คลังดันนโยบายคลังสู่เศรษฐกิจสีเขียวครอบคลุมทุกมิติ

คลังดันนโยบายคลังสู่เศรษฐกิจสีเขียวในงานสัมมนา Fiscal GreenPrint พิมพ์เขียวนโยบายการคลังสู่เศรษฐกิจสีเขียวครอบคลุมสังคมและสิ่งแวดล้อม

นายพรชัย  ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผยผลการสัมมนาวิชาการ “Fiscal GreenPrint พิมพ์เขียวนโยบายการคลังสู่เศรษฐกิจสีเขียว” ของสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง(สศค.) ซึ่งจัดขึ้นในวันพฤหัสบดีที่ 29 สิงหาคม 2567  ห้องอินฟินิตี้บอลรูม โรงแรมพูลแมน คิง เพาเวอร์ กรุงเทพฯ โดยกล่าวว่า การจัดสัมมนาในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นเวทีในการนำเสนอแนวคิดเชิงนโยบายของข้าราชการรุ่นใหม่ของ สศคพร้อมทั้งรับฟังและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับผู้ทรงคุณวุฒิ นักวิชาการ หน่วยงานภาครัฐ และภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องเพื่อนำมาปรับใช้ในการออกแบบและเสนอแนะนโยบายเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้เข้าสู่เศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) ได้ในอนาคต



 ดร.เผ่าภูมิ  โรจนสกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวปาฐกถาและเปิดงาน โดยได้กล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศส่งผลกระทบต่อประเทศไทยใน 2 มิติหลัก ได้แก่ 1) ปัญหาด้านความเป็นอยู่และสุขภาพของประชาชน และ2) ความอยู่รอดทางธุรกิจ โดยรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังได้เน้นย้ำบทบาทของกระทรวงการคลังในการกำหนดยุทธศาสตร์และกลยุทธ์เพื่อขับเคลื่อนประเทศไทยสู่เส้นทางการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยการบูรณาการแนวคิดด้านสิ่งแวดล้อมและปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในการเสนอแนะนโยบายการเงินการคลัง โดยปัจจุบันรัฐบาลได้ดำเนินการส่งเสริมภาคการเงินเพื่อความยั่งยืน(Sustainable Finance) ผ่านการดำเนินงานของสถาบันการเงินเฉพาะกิจ ซึ่งยึดหลักการธนาคารเพื่อความยั่งยืนในการดำเนินธุรกิจ และพัฒนาตลาดทุนไทยให้มีผลิตภัณฑ์เพื่อความยั่งยืนที่หลากหลาย ในขณะเดียวกัน รัฐบาลได้ดำเนินนโยบายภาษีสำหรับการเปลี่ยนแปลงสู่เศรษฐกิจยั่งยืน (Green Transition) เพื่อช่วยส่งเสริมการลงทุนในกิจกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ในการนี้ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังได้กล่าวขอบคุณ สศคที่ได้จัดงานสัมมนาในครั้งนี้พร้อมทั้งมุ่งหวังว่า งานสัมมนานี้จะเป็นเวทีที่ให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นและร่วมกันผลักดันให้ประเทศไทยเปลี่ยนแปลงสู่ระบบเศรษฐกิจที่ยั่งยืนและสามารถแข่งขันกับนานาประเทศได้

สำหรับในหัวข้อ “Fiscal GreenPrint: Policies for Innovation, Sustainability, and Prosperity ปรับนโยบายสู่เศรษฐกิจสีเขียว” นำเสนอโดยนายนรวิชญ์  สุทธิวารี เศรษฐกรชำนาญการ นางสาวดิษยารินทร์  ชินรัฐจิระโชติ เศรษฐกรชำนาญการ และนางสาวสิริวิมล  พูนธนสมบัติ เศรษฐกรชำนาญการ สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้

ปัจจุบันการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้ส่งผลให้เกิดภัยพิบัติอย่างต่อเนื่องและมีแนวโน้มทวีความรุนแรงขึ้น ซึ่งกระทบต่อความเป็นอยู่ของประชาชน ทำให้ภาครัฐมีค่าใช้จ่ายในการให้ความช่วยเหลือและเยียวยาผู้ประสบภัย และส่งผลให้เศรษฐกิจต้องหยุดชะงัก ดังนั้น การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจึงไม่ได้เป็นเพียงปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมแต่ส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจในระยะยาวอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้โดยที่ผ่านมาประเทศไทยได้ดำเนินมาตรการทางภาษีและมาตรการด้านการเงินเพื่อจูงใจให้ภาคธุรกิจปรับเปลี่ยนการผลิตให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น อย่างไรก็ตาม มาตรการดังกล่าวอาจไม่ก่อให้เกิดแรงจูงใจได้มากเท่าที่ควร ดังนั้น สศคจึงได้เสนอให้นำกลไกทางเศรษฐศาสตร์มาใช้เพื่อเพิ่มแรงจูงใจให้เกิดการปรับเปลี่ยนเพื่อสิ่งแวดล้อมและเกิดผลสัมฤทธิ์อย่างเป็นรูปธรรม โดยข้อเสนอมาตรการประกอบด้วย 3 ส่วน คือ

1) สิทธิประโยชน์ทางภาษีที่เชื่อมโยงกับตัวชี้วัดหรือเป้าหมายในด้านสิ่งแวดล้อม (Sustainability-linked Tax Incentives) คือ การให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีแก่ผู้ประกอบการที่ลงทุนหรือจัดทำโครงการอนุรักษ์พลังงาน และหากโครงการนั้นผ่านการตรวจสอบประเมินโดยผู้ได้รับใบอนุญาตและรับรองว่าสามารถลดการใช้พลังงานหรือลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ตามที่กำหนดจริง สามารถนำเงินลงทุนมาหักค่าใช้จ่ายได้มากกว่า 1 เท่า และสามารถหักค่าเสื่อมในอัตราเร่ง(Accelerated depreciation) เพื่อจูงใจให้ภาคธุรกิจติดตามประสิทธิภาพของการลดการใช้พลังงานหรือการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างต่อเนื่อง

2) มาตรการสินเชื่อด้วยเงื่อนไขผ่อนปรนที่ผูกโยงกับการประเมินCarbon Credit (Carbon Credit Accrual Loan) คือ การให้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำโดยสถาบันการเงินเฉพาะกิจ เพื่อให้ผู้ประกอบการหรือเกษตรกรปรับเปลี่ยนการผลิตให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยมีสถาบันการเงินเฉพาะกิจเข้ามาช่วยในการประเมินปริมาณการลดหรือกำจัดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เกิดขึ้น แล้วขึ้นทะเบียน Carbon Credit เพื่อนำไปขายในตลาด และนำผลตอบแทนที่ได้จากการขาย Carbon Credit มาลดเงินต้นให้กับลูกหนี้ หรือ ลดดอกเบี้ยเงินกู้ให้ลูกหนี้ ซึ่งจะทำให้เกิดแรงจูงใจเพิ่มขึ้นจากสินเชื่อดอกเบี้ยที่ต่ำมากกว่าโครงการสินเชื่อของรัฐบาลที่ผ่านมา และลดงบประมาณของภาครัฐในการชดเชยดอกเบี้ยสินเชื่อ

3) การยกระดับตลาดคาร์บอนเครดิตของประเทศไทย โดยใช้มาตรการด้านการเงินการคลัง เพื่อให้กระบวนการออก Carbon Credit มีประสิทธิภาพ ผลิตภัณฑ์ Carbon Credit มีมาตรฐาน ลดข้อจำกัดด้านเวลา ลดภาระด้านเงินทุนของผู้ประกอบการ และมีโครงสร้างพื้นฐานที่มีประสิทธิภาพตลอดวงจรชีวิตของคาร์บอนเครดิต ตั้งแต่การเกิดจนถึงการซื้อขาย Carbon Credit เพื่อให้ Carbon Credit สามารถซื้อขายในราคาที่เหมาะสมและมีมาตรฐานเทียบเท่าตลาดสากล

ข้อเสนอมาตรการทั้งหมดจะช่วยให้ประเทศไทยก้าวทันการเปลี่ยนแปลงกฎระเบียบหรือเงื่อนไขทางเศรษฐกิจของนานาประเทศและรักษาระดับการแข่งขันของประเทศไปพร้อมกับการรักษาสิ่งแวดล้อม

สศคได้รับเกียรติจาก ดร.เบญจรงค์  สุวรรณคีรี รองกรรมการผู้จัดการธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย วิพากย์ผลงานวิชาการและร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับ สศคโดยได้กล่าวถึงความสำคัญของปัญหาทางด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งมีผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจและความสามารถในการแข่งขันของประเทศในอนาคต โดยผู้วิพากย์มีความเห็นสอดคล้องกับกระทรวงการคลังในด้านความจำเป็นในการออกแบบนโยบายเพื่อแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนและมีความเห็นว่า เพื่อกำหนดนโยบายภาครัฐที่มุ่งไปสู่เป้าหมาย

ด้านสิ่งแวดล้อมและคำนึงถึงผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคม พร้อมทั้งสนับสนุนให้ภาคธุรกิจไทยให้สามารถปรับตัวให้ไปในทิศทางเดียวกับประชาคมโลกนั้นจำเป็นต้องมีกรอบของข้อกฎหมายที่มีชัดเจนและครอบคลุม ตลอดจนพัฒนากลไกคาร์บอนให้มีความน่าเชื่อถือ และส่งเสริมระบบการเงินที่เอื้อต่อการเข้าถึงแหล่งทุนเพื่อการดำเนินธุรกิจสีเขียว เป็นต้น ทั้งนี้ อุปสรรคสำคัญต่อการสร้างผลลัพธ์จากการดำเนินนโยบายให้เกิดเป็นรูปธรรม คือ การดำเนินธุรกิจที่ไม่ใช่เพื่อสิ่งแวดล้อมที่แท้จริง (Greenwashing) ซึ่งเป็นสิ่งที่ภาครัฐต้องให้ความสำคัญในการออกแบบนโยบาย นอกจากนี้ ผู้วิพากย์ยังกล่าวถึงการให้ความสำคัญกับเศรษฐกิจสีน้ำเงิน (Blue Economy) ที่เกี่ยวกับการใช้ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอย่างยั่งยืน ซึ่งเป็นอีกหนึ่งแนวทางที่สามารถผลักดันไปพร้อมกับแนวคิดเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy)

ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา สศคมีความมุ่งมั่นในการทำหน้าที่ศึกษาและเสนอแนะนโยบายเพื่อยกระดับและพัฒนาระบบเศรษฐกิจไทยให้มีการเติบโตได้อย่างยั่งยืน และ สศคมุ่งหวังว่า การนำเสนอผลงานวิชาการนี้จะเป็นแนวทางในการกำหนดนโยบายและแผนงานของหน่วยงานต่าง  ที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม ตลอดจนเป็นส่วนหนึ่งในการผลักดันให้ประเทศไทยเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจสีเขียวได้อย่างยั่งยืนต่อไป