ก.ล.ต. อัพเดท 4 หลักเกณฑ์สินทรัพย์ดิจิทัล เปิดพื้นที่ทดลองระบบซื้อขายและสนับสนุนการระดมทุน Soft power

ก.ล.ต. อัพเดท 4 หลักเกณฑ์สินทรัพย์ดิจิทัล เปิดพื้นที่ทดลองระบบซื้อขาย (Digital Asset Regulatory Sandbox) และสนับสนุนการระดมทุน Soft power

.

คุณจอมขวัญ คงสกุล รองเลขาธิการ และคุณเอนก อยู่ยืน รองเลขาธิการ และโฆษก สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้เปิดเผยข้อมูลการปรับปรุงกฎเกณฑ์อย่างต่อเนื่อง เพื่อส่งเสริมการระดมทุนโดยใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี สนับสนุนการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลไทยให้มีคุณภาพ มีการแข่งขันอย่างเป็นธรรม และผู้ลงทุนได้รับความคุ้มครองภายใต้กฎหมายไทย พร้อมทั้งส่งเสริมนโยบายเศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศ


โดยในเดือนสิงหาคม 2567 ก.ล.ต. ได้ปรับปรุงหลักเกณฑ์สินทรัพย์ดิจิทัลเพิ่มเติมอีก 4 เรื่องสำคัญ ทั้งด้านการสนับสนุนนวัตกรรมและเศรษฐกิจดิจิทัล และการเพิ่มประสิทธิภาพในการกำกับดูแลผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล ได้แก่ หัวข้อ การสนับสนุนนวัตกรรมและเศรษฐกิจดิจิทัล

1. การปรับปรุงหลักเกณฑ์การกำกับดูแลโทเคนดิจิทัลเพื่อการใช้ประโยชน์พร้อมใช้ (Utility Token  พร้อมใช้) ทั้งการออกเสนอขายโทเคนดิจิทัลในตลาดแรกและการกำกับดูแลตลาดรอง เพื่อให้สอดคล้องกับลักษณะ ความเสี่ยง และการใช้งาน utility token พร้อมใช้แต่ละประเภท เช่น

ยกเว้นการขออนุญาตเสนอขาย สำหรับ Utility Token พร้อมใช้ ที่มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อการอุปโภคบริโภค หรือเป็นการรับรอง หรือแทนเอกสารสิทธิใด ๆ (Utility Token พร้อมใช้ กลุ่มที่ 1)  

การบริการเกี่ยวกับ Utility Token กลุ่มที่ 1 ไม่ว่าจะพร้อมใช้หรือไม่พร้อมใช้ ไม่ถือเป็นการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลและไม่ต้องได้รับอนุญาต ทั้งนี้ ห้ามศูนย์ซื้อขาย นายหน้าซื้อขาย และผู้ค้าสินทรัพย์ดิจิทัล ให้บริการ (เว้นแต่คณะกรรมการ ก.ล.ต. กำหนดเพิ่มเติมในอนาคต) 

สำหรับ Utility Token พร้อมใช้ ลักษณะอื่นที่นอกเหนือจากกลุ่มที่ 1 (Utility Token พร้อมใช้ กลุ่มที่ 2) ที่จะนำไป list ในศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล ต้องได้รับอนุญาตจาก ก.ล.ต. และเปิดเผยข้อมูลตามที่กำหนด และเสนอขายผ่าน ICO portal


คุณจอมขวัญ กล่าวถึงการ Shelf filing ที่ทาง ก.ล.ต. จะออกเกณฑ์การระดมทุน เพื่อ soft power ในช่วง ไตรมาส 3-4 ปีนี้ ซึ่งเป็นโครงการสีเขียว (Green project) ทั้งนี้เป็นการออกสินทรัพย์ฯเพื่อการระดมทุน คล้ายตราสารหนี้ หรือ หุ้นกู้ แต่จัดเป็นสินทรัพย์ดิจิทัลโทเคน หรือ Investment token และมีที่มาจาก เพลง ละคร หรือกลุ่มผลงานที่จัดอยู่ในกลุ่ม Soft power


โดยขั้นตอนก็คล้ายกันในการยื่น based filling มาก่อน โดยจะเป็นการบอกถึงข้อมูลบริษัทถึงที่มาของรายได้ และรายได้ย้อนหลัง นอกจากนี้การระดมทุนเพื่อsoft power ได้มีบริษัทเข้ามาหารือ 1-2 รายต่อสำนักงาน ก.ล.ต. แล้ว เป็นกลุ่มค่ายเพลง เนื่องจากหลักเกณฑ์คร่าวๆออกมาแล้วตั้งแต่เดือน มิถุนายน 2567



2. โครงการทดสอบและพัฒนานวัตกรรมเพื่อสนับสนุนการให้บริการธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล (Digital Asset Regulatory Sandbox) เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ที่สนใจสามารถทดสอบการให้บริการธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลที่เป็นประโยชน์และพัฒนานวัตกรรมในตลาดทุนภายใต้การกำกับดูแลของ ก.ล.ต. อย่างเหมาะสม ซึ่งสามารถทดลองทำการซื้อขายหลักทรัพย์ในรูปแบบต่างๆ ได้ โดย ก.ล.ต. สามารถประเมินและติดตามความเสี่ยงเพื่อประโยชน์การวางแนวทางการกำกับดูแลต่อไป โดยผู้สนใจสามารถยื่นคำขอเข้าร่วมโครงการได้ตั้งแต่วันที่ 9 สิงหาคม 2567 (เป็นโครงการต่อเนื่องไม่มีกำหนดปิด)


และ อีกหัวข้อคือ การเพิ่มประสิทธิภาพในการกำกับดูแลผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล

1. การปรับปรุงหลักเกณฑ์ด้านการบริหารกิจการ (governance) ของผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล เพื่อให้ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลมีกลไกการควบคุมดูแลการบริหารกิจการและการดำเนินงานอย่างเหมาะสม มีประสิทธิภาพ และสอดคล้องกับลักษณะและความเสี่ยงในการประกอบธุรกิจ รวมทั้งสามารถให้บริการได้อย่างมีคุณภาพมากขึ้น เช่น

กำหนดให้ต้องมีกรรมการไม่น้อยกว่า 5 คน โดยต้องเป็นกรรมการอิสระอย่างน้อย 2 คน และต้องมีคณะกรรมการตรวจสอบ เพื่อให้มีการตรวจสอบถ่วงดุลอย่างเหมาะสม   

กำหนดให้กรรมการ/ผู้บริหารต้องมีประสบการณ์ทำงานด้านสินทรัพย์ดิจิทัลไม่น้อยกว่า 1 ปี หรือผ่านการอบรมในหลักสูตรที่ ก.ล.ต. กำหนด และต้องผ่านการอบรมหลักสูตรการกำกับดูแลกิจการที่ดี (หากไม่เคยผ่านการอบรมต้องเข้าอบรมภายใน 1 ปีนับแต่วันที่ประกาศมีผลใช้บังคับ)

ปรับปรุงหลักเกณฑ์ด้านระบบงานและมาตรฐานในการประกอบธุรกิจให้มีความชัดเจนยิ่งขึ้น เช่น จัดให้มีระบบการตรวจสอบและถ่วงดุลการปฏิบัติงานทุกระบบที่สำคัญ ระบบงานในการติดต่อและให้บริการแก่ลูกค้า รวมถึงการทำความรู้จักตัวตนของลูกค้า (KYC) ที่สอดคล้องและเหมาะสมกับความเสี่ยง 


2. หลักเกณฑ์เกี่ยวกับการกำหนดหลักเกณฑ์ของศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล (Exchange rules) เพื่อให้ศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลกำหนด Exchange rules ที่มีความเหมาะสมและสอดคล้องกับมาตรฐานสากล เพื่อให้มีกลไกคุ้มครองประโยชน์ของผู้ลงทุนที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น เช่น

การกำหนด Exchange rules ของศูนย์ซื้อขาย ต้องเป็นไปตามหลักการและมาตรฐานขั้นต่ำที่ ก.ล.ต. กำหนด เช่น หลักเกณฑ์การคัดเลือกและเพิกถอนสินทรัพย์ดิจิทัล (listing & delisting rules) และต้องเปิดเผย Exchange rules ให้ผู้ลงทุนสามารถเข้าถึงได้ เช่น เปิดเผยบนเว็บไซต์ทางการของบริษัท ฯลฯ

การให้ความเห็นชอบ Exchange rules เป็นอำนาจของสำนักงาน ก.ล.ต. (จากเดิมเป็นอำนาจของคณะกรรมการ ก.ล.ต.) เพื่อให้สอดคล้องกับบทบาทหน้าที่ของสำนักงาน ก.ล.ต. ในการปฏิบัติงานให้สอดรับกับแนวนโยบายที่คณะกรรมการ ก.ล.ต. กำหนดนโยบาย 

ก.ล.ต. จะมีการกำหนดแนวปฏิบัติเกี่ยวกับ Exchange rules ภายใต้กรอบที่คณะกรรมการ ก.ล.ต. กำหนด เพื่อให้หลักเกณฑ์การพิจารณาให้ความเห็นชอบ Exchange rules มีความชัดเจน