ความเป็นส่วนตัวชี้ปี 67 วิกฤติอสังหาฯ หนักกว่าโควิด ผู้ประกอบการปรับทำบ้านขายฝาก

         นายพรนริศ ชวนไชยสิทธิ์ นายกสมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทย เผยว่า ในช่วงปี 2563 – 2564 ซึ่งอยู่ในช่วงโควิด 19 กลุ่มอสังหาฯ แทบจะไม่ได้รับผลกระทบ โดยเฉพาะบ้านเดี่ยวขายดีมาก เพราะผู้คนหลบออกจากคอนโดฯที่แออันมาสู่บ้านเดี่ยว พอมาถึงในปี 2564 – 2565 กลุ่มอสังหาฯทะยานขึ้นมามียอดสูงสูงสุด ผู้ที่ทำโครงการแนวราบจะขายได้ดี รองลงมาจะเป็นพวกคอนโดฯ เนื่องจากต่างชาติเริ่มกลับเข้ามาซื้ออสังหาฯของไทยมากขึ้น จึงทำให้ธุรกิจนี้ต้องพึ่งพายอดขายให้กับชาวต่างชาติสูงมาก  แต่ก็ประสบปัญหาการโอนเงินที่ยุ่งยาก


              อย่างไรก็ตาม พอมาถึงปี 2566 กลุ่มอสังหาฯก็เริ่มขายได้ยากขึ้น แต่กลุ่มบริษัทขนาดใหญ่ 10 อันดับแรก ยังขายได้ดี แต่ยอดขายในกลุ่มภูมิภาคเริ่มแย่ลง แต่มาถึงปี 2567 สถานการณ์ก็ย่ำแย่มากขึ้น เพราะธนาคารเริ่มมีหนี้เสียสูงถึงระดับ 6% ทำให้เริ่มปล่อยสินเชื่อยากขึ้น โดยเฉพาะในเมืองอุตสาหกรรมในภาคตะวันออก เนื่องจากโรงงานปิดกิจการมากขึ้น จึงทำให้ธนาคารปล่อยสินเชื่อน้อยลงเรื่อย ๆ ส่งผลให้ยอดขายอสังหาฯลดลงมาก


จากปัญหาดังกล่าว ทำให้ผู้ประกอบการหลายรายต้องปรับตัวจากการขายบ้านไปสู่การทำธุรกิจขายฝาก จนทำให้ธุรกิจนี้เติบโตเพิ่มขึ้นมาก แต่ผู้ประกอบการกลุ่มนี้ก็แค่ประคองตัว เพราะธุรกิจขายฝาก หรือการให้เช่า มีต้นทุนการดำเนินงานสูง และเป้าหมายหลักของผู้ประกอบการคือการสร้างบ้านออกมาขาย แต่ทั้งนี้ยังมีแรงซื้อจากชาวต่างชาติเข้ามาสูงมาก โดยเฉพาะชาวจีน แต่กฎหมายของไทยยังมีข้อจำกัดอยู่มาก จึงทำให้เกิดนอมินีแฝงเข้ามาเป็นจำนวนมาก


             ผศ.ดร.เกษรา ธัญลักษณ์ภาคย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เสนาดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) หรือ SENA เผยว่า วิกฤติเศรษฐกิจในช่วงต้มยำกุ้ง เป็นเรื่องของรายบริษัท แต่ในครั้งนี้เป็นเรื่องรายบุคคล จึงทำให้กำลังซื้อลดลงไปมาก แม้ว่ายังมีดีมานด์อีกเป็นจำนวนมากยังต้องการที่อยู่อาศัยเพราะเป็นปัจจัยสี่ แต่ก็ซื้อไม่ได้ ทั้งนี้สาเหตุของปัญหาเกิดที่คนจึงแก้ได้ยาก และมีข้อมูลอยู่น้อย


ดังนั้นแนวทางการแก้ปัญหานี้ที่ได้ผลมากที่สุด จะต้องเข้าไปหาทางเพิ่มรายได้ เพื่อให้มีแรงในกาจ่ายดอกเบี้ยและเงินต้นได้ ส่วนการที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะเข้ามาช่วยลดดอกเบี้ย น่าจะทำให้อสังหาฯฟื้นตัวได้บ้าง แต่ถ้าจะแก้ให้ตรงจุด ธปท. จะต้องเข้าไปคุมธนาคารพาณิชย์ให้ลดดอกเบี้ยด้วย ซึ่งหาช่วยกันทั้ง 2 ส่วนก็จะช่วยลูกหนี้ได้มาก


             สำหรับทางออกของธุรกิจอสังหาฯนั้น ทาง เสนาฯ จะไม่ไปแข่งตัดราคา แต่จะพิจารณาตามศักยภาพของสินค้า หากสินค้าใดสู้ได้ และมีกำไร ก็จะเดินหน้าต่อ แต่หากโครงการใดอยู่ในทำเลที่ดี มีอนาคตที่ดี แต่ในช่วงนี้ตลาดไม่มีกำลังซื้อก็จะหยุดการขายไว้ก่อน เพราะทำเลทองหาได้ยาก หากขายในราคาถูกก็จะเสียโอกาส ส่วนสินค้าที่ดูแล้วสู้คู่แข่งได้ยาก ก็จะตัดขายออกไปเพื่อเก็บเงินสด

 

             นายสมศักดิ์ ศิริชัยนฤมิตร ประธานชมรมวานิชธนกิจ สมาคมบริษัทหลักทรัพย์ไทย (IB ClUB) เผยว่า ประเทศไทยมีปัญหาหลัก 2 เรื่อง คือ 1. ในช่วงโควิด 19 ผู้ประกอบการ และประชาชนจำนวนมากพยายามประคองชีวิตโดยการก่อหนี้เพิ่มขึ้นมาก และมีหนี้นอกระบบสูงขึ้น จากในหลังโควิด 19 ก็ประสบปัญหาดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นอีก และยังมีปัญหาสงครามเข้ามาซ้ำเติม และ 2. การดิสรัปชันของเทคโนโลยี ทำให้ผู้ประกอบการใช้บุคลากรน้อยลง รวมทั้งโครงสร้างเศรษฐกิจไทยส่วนใหญ่ก็เพิ่มมูลค่าได้ยาก เช่น สินค้าเกษตรที่มีราคาต่ำ รวมทั้งยังมีปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองเข้ามาอย่างต่อเนื่อง


จากสาเหตุดังกล่าว จึงทำให้ในปัจจุบันไทยมีปัญหาหนี้ครัวเรือนสูงมาก สวนทางกับรายได้ที่ลดลงไม่เพียงพอกับค่าใช้จ่าย ประกอบกับยังมีคนจำนวนมากที่มีค่านิยมที่ฟุ่มเฟือย จึงซ้ำเติมภาวะหนี้มากขึ้น รวมทั้งคนไทยยังไม่สามารถสู้กับทุนต่างชาติได้ และยังต้องพึ่งพาแรงงานต่างชาติอีกเป็นจำนวนมาก จึงทำให้ปัญหาต่าง ๆ เหล่านี้มีความรุนแรงมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง


        นอกจากนี้ ค่านิยมในการลงทุนในที่ดินและอสังหาฯ เพื่อเก็งกำไรของคนไทยก็ลดลง ทำให้กำลังซื้อจากกลุ่มนี้ลดลงไปมาก เนื่องจากเทคโนโลยีใหม่ทำให้ลงทุนในด้านอื่นทำได้ง่ายขึ้น และมีผลตอบแทนที่ดีกว่า เช่น การเล่นหุ้นต่างประเทศ การลงทุนในตลาดทองคำ หรือเงินดิจิทัล