สตง.สรุปภาพรวมรายงานผลการปฏิบัติงานประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 สามารถปกป้องเงินแผ่นดินได้มากกว่า 30,000 ล้านบาท
นายสุทธิพงษ์ บุญนิธิ รองผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน ในฐานะโฆษกสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน เปิดเผยว่า ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ได้ตรวจเงินแผ่นดินตามนโยบายของคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน โดยได้ตรวจสอบหน่วยรับตรวจซึ่งประกอบด้วย หน่วยงานราชการส่วนกลางและส่วนภูมิภาค หน่วยงานราชการส่วนท้องถิ่น รัฐวิสาหกิจ กองทุนและเงินหมุนเวียน และหน่วยงานอื่นของรัฐ จำนวนทั้งสิ้น 9,426 หน่วยงาน รวมจำนวนผลผลิตการตรวจเงินแผ่นดิน 14,148 รายงาน/ระบบ/สัญญา/ประกาศ พบข้อบกพร่องและได้แจ้งข้อเสนอแนะให้หน่วยรับตรวจแก้ไขข้อบกพร่องและปรับปรุงการปฏิบัติงานให้เป็นไปตามกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้อง เป็นไปตามวัตถุประสงค์ ประหยัด เกิดผลสัมฤทธิ์และมีประสิทธิภาพ รวมทั้งสิ้น 1,795 หน่วยงาน หรือคิดเป็นร้อยละ 19.04 ของหน่วยรับตรวจที่ สตง. ตรวจสอบ รวมมูลค่าความเสียหายที่ต้องมีการชดใช้เงินคืนและรายได้ที่ต้องจัดเก็บเพิ่ม/มูลค่าความเสียหายที่ป้องกันได้/มูลค่าเสียโอกาสและความเสียหายจากการดำเนินงาน เป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 30,835.97 ล้านบาท ทั้งนี้ ผลการปฏิบัติงานด้านการตรวจเงินแผ่นดินสามารถจำแนกตามลักษณะงานตรวจสอบได้ดังนี้
1. การตรวจสอบการเงิน จากการตรวจสอบรายงานการเงินของหน่วยรับตรวจ จำนวน 8,575 รายงาน พบว่า สตง. ได้แสดงความเห็นต่อรายงานการเงินอย่างมีเงื่อนไข แสดงความเห็นว่ารายงานการเงินไม่ถูกต้อง และไม่แสดงความเห็นต่อรายงานการเงิน รวมจำนวน 629 รายงาน หรือคิดเป็นร้อยละ 7.34 ของรายงานที่ตรวจสอบ ซึ่งสาเหตุส่วนใหญ่มาจากการบันทึกบัญชีไม่ถูกต้องครบถ้วน หรือไม่มีเอกสารหลักฐานประกอบการบันทึกบัญชีให้ตรวจสอบ รวมถึงไม่สามารถชี้แจงสาเหตุของข้อผิดพลาดหรือผลแตกต่างได้ ซึ่งเกี่ยวข้องกับรายการที่มีจำนวนเงินสูงอย่างมีสาระสำคัญหลายรายการ หรือเพียงรายการเดียวแต่มีสัดส่วนที่สำคัญอย่างมากต่อรายงานการเงิน โดยรายการที่พบข้อผิดพลาดส่วนใหญ่ อาทิ เงินสดและรายการเทียบเท่าเงินสด ที่ดิน อาคารและอุปกรณ์ ฯลฯ อย่างไรก็ตาม เมื่อเปรียบเทียบกับปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ที่มีการแสดงความเห็นต่อรายงานการเงินอย่างมีเงื่อนไข แสดงความเห็นว่ารายงานการเงินไม่ถูกต้อง และ ไม่แสดงความเห็นต่อรายงานการเงิน จำนวน 1,094 รายงาน พบว่ามีสัดส่วนลดลง จำนวน 465 รายงาน หรือคิดเป็นร้อยละ 42.50 ทั้งนี้ เนื่องจากการจัดทำรายงานการเงินของหน่วยรับตรวจมีพัฒนาการที่ดีขึ้นอันเป็นผลมาจากหน่วยกำกับดูแลได้กำหนดแนวทางการบันทึกบัญชีและการจัดทำรายงานการเงินเพื่อให้เกิดความชัดเจนและลดข้อผิดพลาดในการปฏิบัติงาน ประกอบกับ สตง. ได้ให้คำแนะนำในการบันทึกบัญชีและการจัดทำรายงานการเงินให้เป็นไปตามมาตรฐานการบัญชีภาครัฐและนโยบายการบัญชีภาครัฐ
นอกจากนี้ จากการตรวจสอบระบบสารสนเทศของหน่วยรับตรวจ จำนวน 5 ระบบ/รายงาน รวม 5 หน่วยงาน ยังมีข้อตรวจพบที่สำคัญในด้านการควบคุมทั่วไปเทคโนโลยีสารสนเทศและด้านการควบคุมเฉพาะระบบ โดยเฉพาะในประเด็นเรื่องการควบคุมการเข้าถึงข้อมูลและระบบงาน ซึ่งพบว่าไม่มีการสอบทานบัญชีผู้ใช้งานและสิทธิการเข้าถึงระบบสารสนเทศอย่างสม่ำเสมอ รวมถึงระบบบริหารเงินกองทุนและระบบอื่นที่เกี่ยวข้องกับข้อมูลลูกหนี้เงินกองทุนพัฒนาสหกรณ์ ซึ่งมีการนำเข้าข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง ไม่ครบถ้วน เป็นต้น
2. การตรวจสอบการปฏิบัติตามกฎหมาย จากการตรวจสอบการปฏิบัติตามกฎหมาย ซึ่งประกอบด้วยการตรวจสอบรายจ่าย รายได้ การจัดให้ได้มาซึ่งทรัพย์สินและการบริหารทรัพย์สินของรัฐ ตลอดจนการตรวจสอบข้อเท็จจริง ตรวจสอบกรณีพิเศษ และตรวจสอบเชิงป้องกัน จำนวน 5,318 รายงาน/สัญญา/ประกาศ พบข้อบกพร่อง รวม 2,638 รายงาน/สัญญา/ประกาศ คิดเป็นร้อยละ 49.61 ของรายงาน/สัญญา/ประกาศ โดยมีข้อบกพร่องสำคัญที่ตรวจพบ อาทิ การคำนวณราคากลางไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด หรือไม่ถูกต้องสอดคล้องกับความเป็นจริง การจัดทำสัญญาไม่ถูกต้อง ไม่รัดกุม หรือมีการไม่ปฏิบัติตามสัญญา การจัดเก็บภาษี เงินค่าธรรมเนียมและรายได้อื่น ๆ ไม่ครบถ้วน ไม่ถูกต้อง ไม่เป็นไปตามกฎหมายหรือสัญญา การก่อสร้างไม่เป็นไปตามแบบรูปรายการที่กำหนดและไม่ครบถ้วนตามสัญญา ฯลฯ รวมมูลค่าความเสียหายจากการที่ต้องชดใช้เงินคืน รายได้ที่ต้องจัดเก็บเพิ่ม และประมาณการมูลค่าความเสียหายที่สามารถป้องกันได้ เป็นเงินทั้งสิ้น 666.47 ล้านบาท
3. การตรวจสอบผลสัมฤทธิ์และประสิทธิภาพการดำเนินงาน สตง. ได้ตรวจสอบผลสัมฤทธิ์และประสิทธิภาพการดำเนินงานโดยให้ความสำคัญทั้งในด้านสิ่งแวดล้อม ด้านเศรษฐกิจ ด้านสาธารณูปโภค ด้านสาธารณสุข ด้านการศึกษาฯลฯ วงเงินงบประมาณของรายงาน/โครงการที่ตรวจสอบ รวมทั้งสิ้น 520,680.59 ล้านบาท รวมถึงได้ตรวจสอบผลสัมฤทธิ์และประสิทธิภาพการใช้จ่ายเงินของรัฐ ซึ่งประกอบด้วย ราชการส่วนกลางและส่วนภูมิภาค ราชการส่วนท้องถิ่น และหน่วยงานอื่น ๆ รวมจำนวน 157 รายงาน มีข้อตรวจพบจำนวน 151 รายงาน หรือคิดเป็นร้อยละ 96.18 และได้แจ้งข้อเสนอแนะให้หน่วยรับตรวจดำเนินการแก้ไขปรับปรุง มิให้เกิดมูลค่าเสียโอกาสและความเสียหายจากการดำเนินงาน รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 30,169.50 ล้านบาท โดยปรากฏข้อตรวจพบที่สำคัญในด้านประสิทธิผล/ผลสัมฤทธิ์ เช่น ผลการดำเนินงานไม่เป็นไปตามเป้าหมายหรือวัตถุประสงค์ที่กำหนด มิได้กำหนดวัตถุประสงค์ ตัวชี้วัดค่าเป้าหมาย แผนและแนวทางในการดำเนินงาน มิได้ดำเนินการเพื่อเตรียมความพร้อมก่อนการดำเนินงาน หรือขาดความพร้อมในการดำเนินการด้านประสิทธิภาพ/ความประหยัด เช่น การดำเนินงานล่าช้า ไม่เป็นไปตามแผนที่กำหนด ไม่มีการติดตามประเมินผล หรือมีระบบติดตามประเมินผลที่ไม่มีประสิทธิภาพ ฯลฯ
นายสุทธิพงษ์ กล่าวว่า นอกเหนือจากผลงานด้านการตรวจสอบซึ่งเป็นภารกิจหลักของ สตง. แล้ว ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 สตง. ยังได้แสดงบทบาทสำคัญในเวทีระหว่างประเทศ โดยทำหน้าที่คณะมนตรีองค์การสถาบันการตรวจสอบสูงสุดระหว่างประเทศ (INTOSAI Governing Board) และเป็นผู้ตรวจสอบภายนอก (External Auditor) ขององค์การสถาบันการตรวจสอบสูงสุดแห่งอาเซียน (ASEAN Supreme Audit Institutions : ASEANSAI) รวมถึงมีการเผยแพร่ผลงาน บทความทางวิชาการต่าง ๆ ในเวทีระหว่างประเทศ ตลอดจนได้ดำเนินโครงการเสริมสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนและภาคส่วนต่าง ๆ ในการดูแลรักษาเงินแผ่นดินและทรัพย์สินของรัฐ การส่งเสริมให้ความรู้ความเข้าใจในการปฏิบัติงานแก่หน่วยรับตรวจ และการให้คำปรึกษา แนะนำ และตอบข้อสอบถามแก่หน่วยรับตรวจ เป็นต้น
“ทุก ๆ การใช้จ่ายงบประมาณในการปฏิบัติงานของ สตง. 1 บาท สามารถสร้างผลประโยชน์ที่คิดเป็นมูลค่าทางการเงินให้กับประเทศชาติได้เป็นมูลค่าไม่น้อยกว่า 10.76 บาท โดยคำนวณจากมูลค่าที่ สตง. สามารถปกป้องเงินแผ่นดินได้สูงถึง 30,835.97 ล้านบาท เมื่อเทียบกับค่าใช้จ่ายที่ สตง. ใช้ในการปฏิบัติงาน จำนวน 2,865.57 ล้านบาท สตง. ยังคงมุ่งมั่นสร้างคุณประโยชน์ให้กับประเทศชาติด้วยการทำหน้าที่ผู้ตรวจสอบและให้ข้อเสนอแนะแก่หน่วยรับตรวจเกี่ยวกับการปฏิบัติงานด้านการเงิน การใช้จ่ายงบประมาณ การบริหารซึ่งเงิน ทรัพย์สิน สิทธิ และผลประโยชน์ของหน่วยรับตรวจเพื่อให้การใช้จ่ายเงินแผ่นดินเกิดประโยชน์สูงสุดต่อประเทศชาติและประชาชน” โฆษก สตง. กล่าวในตอนท้าย