SCGP เผยผลการดำเนินงานครึ่งปีแรกของปี 2567 ทำรายได้จากการขาย 68,182 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 3 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยรายได้ของไตรมาสที่สอง 34,234 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 6 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน จากปริมาณขายของสายธุรกิจบรรจุภัณฑ์แบบครบวงจรและสายธุรกิจเยื่อและกระดาษที่เพิ่มขึ้น และความพยายามต่อเนื่องในการบริหารจัดการวัตถุดิบและต้นทุนพลังงาน โดยมองแนวโน้มอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์ครึ่งปีหลังเติบโตต่อ รุกขยายธุรกิจบรรจุภัณฑ์และวัสดุอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่มีศักยภาพเติบโตสูง มุ่งพัฒนาบรรจุภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อมและการขอรับรองคาร์บอนฟุตพริ้นท์ เพื่อร่วมมือกับลูกค้าลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตลอดทั้งห่วงโซ่อุปทาน
นายวิชาญ จิตร์ภักดี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทเอสซีจี แพคเกจจิ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ SCGP กล่าวว่า ภาพรวมความต้องการใช้บรรจุภัณฑ์ในภูมิภาคอาเซียนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ได้แก่ กลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค อาหารและเครื่องดื่ม ซึ่งได้รับแรงหนุนจากจำนวนนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้น และการส่งออกที่ปรับตัวดีขึ้น โดยเฉพาะสินค้าเกษตร อาหารแช่แข็งและอาหารกระป๋อง และบรรจุภัณฑ์กลุ่มสินค้าคงทน เช่น เสื้อผ้า รองเท้า ฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องไปยังประเทศต่าง ๆ เช่น สหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร และกลุ่มประเทศในยุโรป ส่วนธุรกิจเยื่อและกระดาษ ยอดขายบรรจุภัณฑ์อาหารเพิ่มขึ้นจากปัจจัยการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวควบคู่กับการเติบโตของอุตสาหกรรมผลิตอาหารและร้านอาหารบริการด่วน นอกจากนี้ความต้องการเยื่อสำหรับใช้ในการผลิตสิ่งทอและเครื่องแต่งกายยังคงมีความต้องการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม ความต้องการบรรจุภัณฑ์และกระดาษบรรจุภัณฑ์บางส่วนได้รับผลกระทบจากวันหยุดยาวช่วงเทศกาลของประเทศไทยและประเทศอินโดนีเซียในไตรมาสที่ 2 รวมถึงราคาวัตถุดิบกระดาษรีไซเคิลปรับตัวเพิ่มขึ้นตามความต้องการบรรจุภัณฑ์ที่สูงขึ้นทั้งภูมิภาค ขณะเดียวกันค่าขนส่งได้ปรับตัวสูงขึ้นซึ่งเป็นปัจจัยที่ยังต้องจับตาอย่างใกล้ชิด
SCGP มุ่งเน้นการเติบโตอย่างมีคุณภาพและยั่งยืน ด้วยการมุ่งนำเสนอบริการด้านบรรจุภัณฑ์ที่ตอบโจทย์ผู้บริโภค และการบริหารจัดการวัตถุดิบและต้นทุนพลังงานให้มีประสิทธิภาพ ผลการดำเนินงานในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2567 มีรายได้จากการขายเท่ากับ 68,182 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากการเติบโตของทุกสายธุรกิจอย่างต่อเนื่อง การขยายตัวของภาคส่งออก และการฟื้นตัวของกลุ่มสินค้าคงทน มี EBITDA เท่ากับ 9,786 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน กำไรสำหรับงวดเท่ากับ 3,178 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 17 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
สำหรับผลการดำเนินงานในไตรมาสที่ 2 ของปี 2567 มีรายได้จากการขาย 34,234 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 6 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และเพิ่มขึ้นร้อยละ 1 เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา เนื่องจากการใช้จ่ายของผู้บริโภคที่ปรับตัวดีขึ้น การท่องเที่ยวและส่งออกฟื้นตัว ส่งผลดีต่อยอดขายบรรจุภัณฑ์ของ SCGP ในอุตสาหกรรมต่าง ๆ ที่มากขึ้น EBITDA เท่ากับ 4,635 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 1 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และลดลงร้อยละ 10 จากไตรมาสก่อนหน้า สำหรับกำไรสำหรับงวด 1,453 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 2 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และลดลงร้อยละ 16 เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา จากต้นทุนวัตถุดิบกระดาษรีไซเคิลที่ปรับขึ้น
ทั้งนี้ วันที่ 23 กรกฎาคม 2567 คณะกรรมการบริษัทอนุมัติการจ่ายเงินปันผลระหว่างกาลจากผลการดำเนินงานครึ่งปีแรกของปี 2567 ในอัตรา 0.25 บาทต่อหุ้น เป็นเงินทั้งสิ้น 1,073 ล้านบาท โดยกำหนดจ่ายเงินปันผลระหว่างกาลในวันที่ 21 สิงหาคม 2567 กำหนดวันที่ XD ในวันที่ 6 สิงหาคม 2567 และกำหนดรายชื่อผู้มีสิทธิรับเงินปันผล (Record date) ในวันที่ 7 สิงหาคม 2567
นายวิชาญ กล่าวเพิ่มเติมว่า ภาพรวมอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์ครึ่งปีหลังมีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่องจากภาคการผลิต การบริการและการใช้จ่ายที่มีแนวโน้มที่ดีขึ้น รวมถึงการดำเนินนโยบายของภาครัฐเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและการลงทุน คาดว่าช่วงปลายไตรมาสที่ 3 ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมต่าง ๆ จะเริ่มผลิตเพื่อสต๊อกสินค้าเพิ่มขึ้นสำหรับเตรียมรับการใช้จ่ายในช่วงปลายปี ในช่วงครึ่งปีหลัง SCGP มุ่งสร้างการเติบโตต่อเนื่อง โดยยังคงงบลงทุนรวมในปีนี้ประมาณ 15,000 ล้านบาท ด้วยการมุ่งเน้นการขยายกำลังการผลิต และสร้างการเติบโตร่วมกับพันธมิตรทางธุรกิจ (Merger and Partnership : M&P) ในธุรกิจที่มีศักยภาพการเติบโตสูง ล่าสุด SCGP ได้เข้าถือหุ้นร้อยละ 90 ในบริษัทวีอีเอ็ม (ไทยแลนด์) จำกัด ที่มีความเชี่ยวชาญการผลิตชิ้นส่วนสมรรถนะสูงจากการฉีดขึ้นรูปพอลิเมอร์และมีห้องปลอดเชื้อที่ได้รับรองมาตรฐานระดับสากล เพื่อรุกขยายธุรกิจบรรจุภัณฑ์ วัสดุอุปกรณ์ทางการแพทย์และอุปกรณ์สำหรับใช้ในห้องปฏิบัติการ
และล่าสุด SCGP
ได้รับการรับรอง “คาร์บอนฟุตพริ้นท์ของผลิตภัณฑ์” จากองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก
(องค์การมหาชน) หรือ อบก. ครอบคลุมกลุ่มสินค้าตั้งแต่ เยื่อกระดาษ กระดาษพิมพ์เขียน
กระดาษถ่ายเอกสาร กระดาษบรรจุภัณฑ์ บรรจุภัณฑ์พลาสติก บรรจุภัณฑ์อาหาร
และได้รับการรับรองคาร์บอนฟุตพริ้นท์จากกระบวนการพิมพ์และการขึ้นรูปบรรจุภัณฑ์กระดาษรวม
16 กระบวนการ ครอบคลุมทุกกลุ่มสินค้าบรรจุภัณฑ์กระดาษ ที่สามารถระบุปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
ตามกรอบแนวทางการประเมินของ อบก. เพื่อตอบสนองความต้องการใช้นวัตกรรมบรรจุภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อมของลูกค้าและผู้บริโภค