CIMBT ปี 67 คาด GDP ไทย แตะ 2.3%

CIMBT ปี 67 คาด GDP ไทยแตะ 2.3% ไตรมาส 3 เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวภายใต้ 4 ปัจจัยเสี่ยงจากต่างประเทศ

.

ดร.อมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสำนักวิจัย ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย เปิดเผยว่า สำนักวิจัย CIMBT คงคาดการณ์การขยายตัวของ GDP สำหรับปี 2567 ทั้งปีไว้ที่ 2.3% และให้แนวโน้มสำหรับปี 2568 ที่ดูมีความหวังมากขึ้นไว้ที่ 3.2%


แนวโน้มเศรษฐกิจครึ่งหลังของปี 2567 เศรษฐกิจไทยน่าจะขยายตัวชัดเจนขึ้นโดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการท่องเที่ยว การบริโภคภาคเอกชน การลงทุน และการส่งออก ขณะที่อุปสงค์ภายในจะฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป เศรษฐกิจอาจเผชิญกับความเสี่ยงด้านลบจากความไม่แน่นอนทางการเมืองที่อาจลดความเชื่อมั่นของนักลงทุนและผู้บริโภค แต่เป็นปัจจัยชั่วคราว ขณะที่ความเสี่ยงหลักจะมาจาก ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ การเลือกตั้งในหลายประเทศที่อาจเปลี่ยนขั้วการเมือง อัตราดอกเบี้ยที่ทรงตัวในระดับสูงลากยาว และภาคการผลิตที่อาจหดตัวต่อเนื่อง


แม้จะมีความท้าทายเหล่านี้ แต่รัฐบาลไทยมีงบประมาณ และดำเนินมาตรการการคลังที่มุ่งเป้าเพื่อกระตุ้นการลงทุนและเพิ่มการบริโภคภายในประเทศโดยไม่เพิ่มภาระหนี้ของรัฐบาลอย่างมีนัยสำคัญ นอกจากนี้ โครงการโครงสร้างพื้นฐานกำลังเร่งตัวขึ้น ทำให้การเชื่อมต่อดีขึ้น เพิ่มประสิทธิภาพ และสร้างโอกาสในการจ้างงาน


ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 2.50% ในการประชุมวันที่ 12 มิถุนายน เพื่อรักษาระดับการกู้ยืมของครัวเรือนเนื่องจากกังวลเกี่ยวกับเสถียรภาพทางการเงินในระยะยาวจากหนี้ครัวเรือนที่เพิ่มขึ้น ขณะเดียวกัน ธปท. ส่งเสริมให้ครัวเรือนจัดการหนี้อย่างรับผิดชอบและพิจารณาโครงการปรับโครงสร้างหนี้สำหรับผู้ที่ประสบปัญหาทางการเงิน ส่วนเงินเฟ้อยังอยู่ภายใต้กรอบที่ธปท.สามารถควบคุมได้ ขณะที่การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจเป็นไปตามคาดการณ์ของธปท. ซึ่งแสดงให้เห็นว่าไม่มีความจำเป็นเร่งด่วนในการลดดอกเบี้ยเพื่อเร่งการเติบโตทางเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตาม คาดว่าการประชุมเดือนธันวาคมจะมีการลดดอกเบี้ยลง 0.25% ไปสู่ระดับที่ 2.25% เพื่อกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจในปี 2568 และให้สอดคล้องกับระดับศักยภาพการเติบโตทางเศรษฐกิจไทย


เศรษฐกิจไทยไตรมาส 3/2567 มี 4 ปัจจัยเสี่ยงหลัก โดยมองว่าปัญหาหลักมาจากปัจจัยต่างประเทศส่วนใหญ่ ดังนี้

  • ปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ (Geopolitics) ในกรณีที่เลวร้าย
    • อาจจะส่งผลต่อต้นทุนขนส่งสินค้าทางเรือจะสูงขึ้น ราคาน้ำมันคาดปรับขึ้นไปแตะ 100 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล  ซึ่งปกติมักจะอยู่ที่  82 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ซึ่งมองว่าจะกระทบผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่อย่างซาอุดิอาระเบียและอิหร่าน รวมทั้งความขัดแย้งในยูเครนที่อาจยืดเยื้อและรุนแรงจนกระทบอุปทานน้ำมันของรัสเซีย
    • ความขัดแย้งระหว่างจีนและไต้หวัน หรือเกาหลีเหนือและเกาหลีใต้ที่อาจกระทบห่วงโซ่อุปทานภาคการผลิตจนทำให้ราคาสินค้าบางประเภทโดยเฉพาะกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ปรับพุ่งขึ้นได้
  • การเลือกตั้ง (Election) 
    • การเลือกตั้งที่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจประเทศไทยคือ การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ วันที่ 5 พฤศจิกายนนี้ จะมีความสำคัญต่อทิศทางการค้า การลงทุน และกระแสโลกาภิวัตน์ตีกลับ (De-globalization) นั่นเอง
  • การปรับลดดอกเบี้ย ในกรณีที่ไม่ปรับลด 
    • ในกรณี ที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ (FERDERAL Reserve) ส่งสัญญาณที่จะไม่ลดอัตราดอกเบี้ยเลยในปีนี้  กนง. อาจเลือกที่จะคงอัตราดอกเบี้ยตลอดทั้งปีแทนที่จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยในเดือนธันวาคมอย่างที่เราคาด 
  • ปัญหาของภาคการผลิต มีมุมมองว่าการส่งออกและการลงทุนในอุตสาหกรรมการผลิตกำลังจะดีขึ้น ในไตรมาส 3/2567 ตามการฟื้นตัวของตลาดโลกและความเชื่อมั่นดีขึ้น  แต่
    • มีความกังวลของสินค้าจากจีน กระทบต่อการแข่งขันและความสามารถในการแข่งของภาคอุตสาหกรรมการผลิตของประเทศไทย และหากไทยไม่สามารถยับยั้งการเร่งระบายสินค้าจากจีน SMEs ไทยจะกระทบหนักถึงขั้นปิดโรงงาน

#CIMBT #ซีไอเอ็มบีไทย #ศูนย์วิจัยซีไอเอ็มบีไทย