ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 36.93 บาทต่อดอลลาร์ “แข็งค่าขึ้น”



นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า

 

ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ  36.93 บาทต่อดอลลาร์ “แข็งค่าขึ้น
จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ  37.07 บาทต่อดอลลาร์

 

โดยนับตั้งแต่ช่วงคืนก่อนหน้า ค่าเงินบาทพลิกกลับมาแข็งค่าขึ้น (แกว่งตัวในช่วง 36.87-37.07 บาทต่อดอลลาร์) หนุนโดยการอ่อนค่าลงต่อเนื่องของเงินดอลลาร์ หลังรายงานดัชนี PMI ภาคการผลิตและภาคการบริการของสหรัฐฯ ที่สำรวจโดย S&P Global เดือนเมษายน ออกมาแย่กว่าคาด สะท้อนว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ อาจไม่ได้แข็งแกร่งมากอย่างที่ตลาดประเมิน ทำให้ผู้เล่นในตลาดกลับมาเพิ่มโอกาสที่เฟดจะลดดอกเบี้ยได้ ครั้งในปีนี้ นอกจากนี้ เงินบาทยังได้แรงหนุนจากโฟลว์ขายทำกำไรทองคำ หลังราคาทองคำรีบาวด์ขึ้นราว +30 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ตามการอ่อนค่าของเงินดอลลาร์และการย่อตัวลงบ้างของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ทั้งนี้ เงินบาทก็ยังไม่สามารถแข็งค่าต่อเนื่องไปได้มากนัก เนื่องจากผู้เล่นในตลาดส่วนใหญ่ต่างก็รอจังหวะเงินบาทแข็งค่าในการทยอยเข้าซื้อ หรือเพิ่มสถานะ Short THB (มองเงินบาทอ่อนค่าโดยเฉพาะฝั่งผู้เล่นต่างชาติ หลังบรรดานักวิเคราะห์ต่างชาติต่างปรับคาดการณ์เงินบาทอ่อนค่าลงถึงระดับ 37.50-38 บาทต่อดอลลาร์ ในช่วงไตรมาส 2-3

 

ผู้เล่นในตลาดหุ้นสหรัฐฯ เดินหน้าเปิดรับความเสี่ยงมากขึ้น ตามความกังวลแนวโน้มดอกเบี้ยเฟดที่คลี่คลายลงบ้าง จากรายงานดัชนี PMI ภาคการผลิตและภาคการบริการที่ออกมาต่ำกว่าคาด ขณะเดียวกัน บริษัทจดทะเบียนหลายแห่งต่างก็ทยอยประกาศผลกำไรที่ออกมาดีกว่าคาด ทำให้ผู้เล่นในตลาดเริ่มกลับเข้าซื้อหุ้นสหรัฐฯ อีกครั้ง หลังเผชิญแรงขายในช่วงที่ผ่านมา ทำให้โดยรวมดัชนี S&P500 ปิดตลาดราว +1.20%

 

ทางฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 ปรับตัวขึ้นต่อเนื่อง +1.09% หนุนโดยการรีบาวด์ขึ้นแรงของบรรดาหุ้นเทคฯ และหุ้นสไตล์ Growth อาทิ SAP +5.3%, Hermes +2.0% ตามความหวังการทยอยลดดอกเบี้ยของธนาคารกลางยุโรป (ECB) ขณะเดียวกัน ผู้เล่นในตลาดก็คลายกังวลแนวโน้มดอกเบี้ยเฟดลงบ้าง นอกจากนี้ ตลาดหุ้นยุโรปยังได้แรงหนุนจากรายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียนฝั่งยุโรปส่วนใหญ่ที่ยังคงออกมาดีกว่าคาด

 

ในฝั่งตลาดบอนด์ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ย่อตัวลงบ้าง สู่ระดับ 4.60หลังผู้เล่นในตลาดเริ่มคลายกังวลแนวโน้มดอกเบี้ยเฟด และเพิ่มโอกาสเฟดลดดอกเบี้ยราว ครั้งในปีนี้ จากรายงานดัชนี PMI ภาคการผลิตและภาคการบริการสหรัฐฯ ล่าสุดที่ออกมาต่ำกว่าคาด ทั้งนี้ เรามองว่า บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ยังมีแนวโน้มผันผวนอยู่ ท่ามกลางการปรับเปลี่ยนมุมมองของผู้เล่นในตลาดต่อแนวโน้มดอกเบี้ยเฟด อย่างไรก็ดี เราคงมองว่า บอนด์ 10 ปี สหรัฐฯ นั้นมีความน่าสนใจในทุกจังหวะการปรับตัวขึ้น (เน้นกลยุทธ์ทยอย Buy on Dip) โดยมี Risk-Reward ที่คุ้มค่ามากขึ้น

 

ทางด้านตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์พลิกกลับมาอ่อนค่าลง เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักส่วนใหญ่ ท่ามกลางภาวะเปิดรับความเสี่ยงของตลาดหุ้นสหรัฐฯ นอกจากนี้ เงินดอลลาร์ยังถูกกดดันจากรายงานดัชนี PMI สหรัฐฯ ล่าสุดที่ออกมาต่ำกว่าคาด สวนทางกับรายงานดัชนี PMI ของบรรดาประเทศเศรษฐกิจหลัก ทำให้ดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ย่อตัวลงสู่โซน 105.7 จุด (แกว่งตัวในกรอบ 105.6-106.2 จุด) ในส่วนของราคาทองคำ การย่อตัวลงบ้างของทั้งบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ และเงินดอลลาร์ ตามความกังวลแนวโน้มดอกเบี้ยเฟดที่ลดลงไปบ้างนั้น ได้ช่วยหนุนให้ ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน มิ.ย.) รีบาวด์ขึ้นสู่โซนราคาแถว2,330 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ได้อีกครั้ง ซึ่งการรีบาวด์ของราคาทองคำดังกล่าว ได้เปิดโอกาสให้ผู้เล่นในตลาดบางส่วนทยอยขายทำกำไรทองคำ และโฟลว์ธุรกรรมซื้อทองคำก็มีส่วนช่วยให้เงินบาทแข็งค่าขึ้นในช่วงคืนที่ผ่านมา

 

สำหรับวันนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้นประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจยูโรโซน ผ่านรายงานดัชนีความเชื่อมั่นภาคธุรกิจโดย Ifo (IFO Business Climate) ของเยอรมนี และยูโรโซน ในเดือนเมษายน พร้อมทั้งรอจับตาถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่ธนาคารกลางยุโรป (ECB) เพื่อประเมินแนวโน้มการดำเนินนโยบายการเงินของทาง ECB ซึ่งผู้เล่นในตลาดต่างมั่นใจว่า ECB จะเริ่มทยอยลดดอกเบี้ยลงได้ตั้งแต่การประชุมเดือนมิถุนายนนี้

 

ส่วนในฝั่งเอเชีย ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้นผลการประชุมธนาคารกลางอินโดนีเซีย (BI) ซึ่งแม้ว่า ตลาดจะประเมินว่า BI อาจยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับ 6.00% ทว่า ก็มีความเสี่ยงที่ BI อาจขึ้นดอกเบี้ย +25bps เพื่อช่วยประคองและรักษาเสถียรภาพของค่าเงินรูเปียะห์ (IDR) ได้

 

สำหรับในฝั่งไทย ผู้เล่นในตลาดจะรอจับตางานสัมนา Monetary Policy Forum ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เพื่อจับตาการส่งสัญญาณต่อแนวโน้มการดำเนินนโยบายการเงินของ ธปท

 

และนอกเหนือจากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจดังกล่าว ผู้เล่นในตลาดจะรอจับตารายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียน ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อบรรยากาศในตลาดการเงินได้พอสมควรในช่วงนี้

 

 

สำหรับ แนวโน้มของค่าเงินบาท เราประเมินว่า การพลิกกลับมาแข็งค่าขึ้นของเงินบาทในช่วงคืนที่ผ่านมา อาจช่วยชะลอโมเมนตัมการอ่อนค่าของเงินบาทได้บ้าง อีกทั้ง เราคาดว่า ผู้เล่นในตลาดอาจยังไม่รีบปรับสถานะถือครองค่าเงินในช่วงนี้มานัก เพื่อรอลุ้น รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญสหรัฐฯ ทั้ง GDP ไตรมาสแรกของปีนี้ และไฮไลท์สำคัญ อย่าง อัตราเงินเฟ้อ PCE รวมถึงรายงานผลประกอบการของบรรดาหุ้นเทคฯ ใหญ่ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อบรรยากาศในตลาดการเงินและทิศทางเงินดอลลาร์ได้ ทำให้ เงินดอลลาร์ก็อาจแกว่งตัวในกรอบ sideways ไปก่อน อย่างไรก็ดี เงินบาทจะยังคงเผชิญแรงกดดันฝั่งอ่อนค่าเพิ่มเติม จากโฟลว์ธุรกรรมจ่ายเงินปันผลให้กับนักลงทุนต่างชาติ ทำให้เรามองว่า เงินบาทยังไม่สามารถพลิกกลับมาแข็งค่าขึ้นต่อเนื่องไปได้ง่ายนัก และประเมินว่า โซนแนวรับของเงินบาทก็อาจอยู่ในช่วง 36.80-36.85 บาทต่อดอลลาร์ ขณะที่โซน 37.00-37.10 บาทต่อดอลลาร์ ก็จะเป็นโซนแนวต้านในช่วงนี้ จนกว่าตลาดจะรับรู้ปัจจัยใหม่ๆ เพิ่มเติม 

 

ทั้งนี้ ควรระวังความผันผวนในตลาดค่าเงิน ช่วงตลาดทยอยรับรู้การแถลงเกี่ยวกับมุมมองของธนาคารแห่งประเทศไทย ต่อแนวโน้มเศรษฐกิจและการดำเนินนโยบายการเงิน ในงานสัมนา Monetary Policy Forum หลังผู้เล่นในตลาดเริ่มมองว่า ธปทอาจไม่ลดดอกเบี้ยในปีนี้ ทว่า หากมีการส่งสัญญาณว่า ธปทยังสามารถทยอยลดดอกเบี้ยได้ในปีนี้ ก็อาจเป็นปัจจัยกดดันให้เงินบาทผันผวนอ่อนค่าลงได้บ้าง 

 

อย่างไรก็ตาม เรายังคงมองว่า ผู้เล่นในตลาดยังคงต้องเฝ้าระวังและติดตามความเสี่ยงที่ทางการญี่ปุ่นจะเข้าแทรกแซงตลาดค่าเงิน เพื่อหนุนให้เงินเยนญี่ปุ่น (JPYพลิกกลับมาแข็งค่าขึ้น โดยเฉพาะหากเงินเยนได้อ่อนค่าทะลุโซน 155 เยนต่อดอลลาร์ 

 

อนึ่ง เรามองว่า เงินบาทยังคงเคลื่อนไหวผันผวนสูง ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงไปมาของปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อทิศทางค่าเงินบาท ทำให้ผู้เล่นในตลาดควรใช้กลยุทธ์ในการปิดความเสี่ยงที่หลากหลายมากขึ้น ทั้งการใช้เครื่องมือเช่น Options หรือ สกุลเงินท้องถิ่น ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการปิดความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน

 

มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 36.80-37.05บาท/ดอลลาร์