คลัง เปิดเงื่อนไขล่าสุด “ดิจิทัลวอลเล็ต”หมื่นบาท เริ่มไตรมาส 4 ปี 67

คลังเผยเงื่อนไข “ดิจิทัลวอลเล็ต”หมื่นบาท เริ่มไตรมาส 4 ปี 67 ประชาชน ร้านค้า วงเงิน 5 แสนล้านจากงบประมาณรายจ่าย 2 ปี และกู้จากหน่วยงานรัฐ

นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบกรอบหลักการโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet (โครงการฯ) โดยใช้แหล่งเงินจากงบประมาณรายจ่าย 2 ปี และกู้ผ่านหน่วยงานรัฐ รวม 500,000 ล้านบาท ได้แก่ (1) เงินงบประมาณรายจ่ายปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 จำนวนประมาณ 152,700 ล้านบาท (2) การดำเนินโครงการผ่านหน่วยงานของรัฐ จำนวนประมาณ 172,300 ล้านบาท และ (3) การบริหารจัดการเงินงบประมาณรายจ่ายปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 จำนวนประมาณ 175,000 ล้านบาท ให้สิทธิแก่ประชาชน 50 ล้านคน โดยช่วงเวลาการดำเนินโครงการ ประชาชนและร้านค้าจะสามารถเข้าร่วมโครงการฯ โดยเริ่มให้มีการลงทะเบียนภายในไตรมาสที่ 3 ของปี 2567 และจะมีการเริ่มใช้จ่ายภายในไตรมาสที่ 4 ของปี 2567

เงื่อนไขเข้าโครงการดิจิทัลวอลเล็ต : กลุ่มเป้าหมาย ประชาชนจำนวนประมาณ 50 ล้านคน ได้แก่ อายุ 16 ปีขึ้นไป ณ เดือนที่มีการลงทะเบียน ไม่เป็นผู้ที่มีเงินได้พึงประเมินเกิน 840,000 บาทต่อปีภาษี และมีเงินฝากกับธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินเฉพาะกิจรวมกันไม่เกิน 500,000 บาท

เงื่อนไขการใช้จ่ายดิจิทัลวอลเล็ต

ระหว่างประชาชนกับร้านค้า : ใช้จ่ายเชิงพื้นที่ในระดับอำเภอ (878 อำเภอ) , กำหนดให้ใช้จ่ายกับร้านค้าขนาดเล็กที่ตามที่กระทรวงพาณิชย์กำหนดเท่านั้น 

 ระหว่างร้านค้ากับร้านค้า : ไม่กำหนดเงื่อนไขการใช้จ่ายเชิงพื้นที่ระหว่างร้านค้ากับร้านค้าในระดับอำเภอและขนาดของร้านค้า

การใช้จ่ายเงินสามารถใช้จ่ายได้หลายรอบ โดยรอบที่ 1 จะเป็นการใช้จ่ายระหว่างประชาชนกับร้านค้าขนาดเล็กเท่านั้น (ตามกระทรวงพาณิชย์กำหนด) ตั้งแต่รอบที่ 2 ขึ้นไป จะเป็นการใช้จ่ายระหว่างร้านค้ากับร้านค้าโดยไม่จำกัดขนาดร้านค้า

ประเภทสินค้า ; สินค้าทุกประเภทสามารถใช้จ่ายผ่านโครงการฯ ได้ ยกเว้น สินค้าอบายมุข น้ำมัน บริการ และออนไลน์ เป็นต้น และสิ่งที่กระทรวงพาณิชย์จะกำหนดเพิ่มเติม

เงื่อนไขของร้านค้า : คุณสมบัติร้านค้าที่สามารถถอนเงินสดจากโครงการฯ ต้องเป็นร้านค้าที่อยู่ในระบบภาษี ดังนี้ ระบบ ภาษีมูลค่าเพิ่ม (Value Added Tax: VAT) หรือ ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา (Personal Income Tax: PIT) เฉพาะผู้มีเงินได้พึงประเมิน ตามมาตรา 40 (8) แห่งประมวลรัษฎากร หรือ  ภาษีเงินได้นิติบุคคล (Corporate Income Tax: CIT)

ทั้งนี้ ร้านค้าไม่สามารถถอนเงินสดได้ทันทีหลังประชาชนใช้จ่าย แต่ร้านค้าจะสามารถถอนเงินสดได้เมื่อมีการใช้จ่ายตั้งแต่ในรอบที่ 2 เป็นต้นไป

การพัฒนาระบบโครงการ

การจัดทำระบบ: พัฒนาและดำเนินการระบบ อาทิ การจัดทำเว็บไซต์ ระบบลงทะเบียนและตรวจสอบคุณสมบัติประชาชนและร้านค้า ระบบการใช้จ่าย ระบบการชำระเงิน ระบบตรวจสอบธุรกรรม โดยพัฒนาให้สามารถใช้จ่ายได้กับธนาคารอื่น ๆ ในลักษณะ Open Loop ด้วยซึ่งมีความสำคัญอย่างยิ่งในการจัดทำของภาครัฐ รัฐบาลจะดำเนินโครงการฯ ให้เป็นไปอย่างรอบคอบ โปร่งใส และสามารถตรวจสอบได้ตามกฎหมาย