IRPC ผนึกลูกค้าต่อยอดพัฒนาพลาสติกคลุมเตียงแรงดันลบ

IRPC ร่วมกับ เอเซีย โพลีแซคส์ และคณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาล พัฒนาต่อยอดพลาสติกคลุมเตียงเคลื่อนย้ายผู้ป่วยติดเชื้อแบบแรงดันลบ ถูกกว่าต้นแบบ 3 เท่า ช่วยลดการนำเข้า เพิ่มความปลอดภัยให้บุคลากรทางการแพทย์จากการติดเชื้อ COVID-19 พร้อมลงนาม MOU กับคณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาล สร้างห้องปฏิบัติการตรวจสอบมาตรฐานผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์

นายนพดล ปิ่นสุภา กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชนหรือ IRPC กล่าวว่า “บริษัทฯ ได้ร่วมกับบริษัท เอเซีย โพลีแซคส์ จำกัด ผู้ผลิตถุงกระสอบสานพลาสติกรายใหญ่ของประเทศไทย และเป็นหนึ่งในบริษัทคู่ค้าที่สำคัญของ IRPC และคณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาล มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช พัฒนาต่อยอดนวัตกรรมพลาสติกคลุมเตียง สำหรับเตียงเคลื่อนย้ายผู้ป่วยติดเชื้อแบบแรงดันลบ โดยใช้วัตถุดิบผ้ากระสอบพลาสติกที่ผลิตจากเม็ดพลาสติก “POLIMAXX” เกรดพิเศษของ IRPC  ซึ่งมีคุณสมบัติความเหนียว แข็งแรง ทนทานสูง มอบให้โรงพยาบาลวชิรพยาบาล เพื่อเพิ่มความปลอดภัยให้แก่บุคลากรทางการแพทย์ และประชาชน ตามนโยบายกลุ่ม ปตทร่วมกันทำงานในภารกิจสู้ภัย COVID-19 อย่างเต็มที่ เพื่อผ่านวิกฤตครั้งนี้ไปด้วยกัน ด้วยต้นทุนการผลิตของพลาสติกคลุมเตียงที่ผลิตจาก เอเซีย โพลีแซคส์ ซึ่งต่ำกว่าพลาสติกต้นแบบถึงเกือบ 3 เท่าตัวทำให้ช่วยลดการนำเข้าจากต่างประเทศ และสามารถใช้ครั้งเดียวทิ้งได้เลย เพื่อลดระยะเวลาการทำความสะอาดกรณีเร่งด่วน และเพิ่มความปลอดภัยสูงสุดให้แก่บุคลากรทางการแพทย์ ลดความเสี่ยงในการติดเชื้อไวรัส COVID-19 ได้

IRPC ได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุนทีมบุคลากรทางการแพทย์ต่อสู้กับวิกฤตการณ์แพร่กระจายของไวรัสCOVID-19 ด้วยการส่งมอบชุดป้องกันส่วนบุคคล (Personal Protective Equipment: PPE) ที่เกิดจากความร่วมมือระหว่างคณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาล มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช IRPC ลูกค้าผู้ผลิตผ้าสปันบอนด์ และลูกค้าผู้พัฒนาด้านการเคลือบ โดยมีคุณสมบัติที่สามารถ กันน้ำและสารคัดหลั่งได้ไม่ต่างจากชุด PPE ที่นำเข้าจากต่างประเทศ จำนวน 5,000 ชุด ให้กับโรงพยาบาลวชิรพยาบาล  

นอกจากนี้ IRPC ได้รับโอกาสในการต่อยอดพัฒนาผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ โดยได้จัดทำบันทึกความเข้าใจ (MOU) ร่วมกับคณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาล มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช ในการสร้างห้องปฏิบัติการตรวจสอบมาตรฐานสากลของผลิตภัณฑ์ที่ใช้ในการแพทย์ เช่น ชุด PPE หน้ากากอนามัย เพื่อยกระดับการสร้างองค์ความรู้และการวิจัยในประเทศ พร้อมทั้งสนับสนุนให้เกิดการผลิตวัสดุอุปกรณ์ทางการแพทย์ในประเทศทดแทนการนำเข้า อย่างไรก็ตาม IRPC ได้ให้ความสำคัญกับผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ (Medical Application) ที่ปัจจุบันนำต้องเข้าจากต่างประเทศและมีราคาค่อนข้างสูง จึงได้ตั้งคณะทำงาน โดยใช้องค์ความรู้และเทคโนโลยีร่วมกับเครือข่ายพันธมิตร ทำให้เกิดผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ที่หลากหลายและได้รับการรับรองคุณภาพมาตรฐานจาก Center Certified Laboratory และความสำเร็จในเบื้องต้นนี้จะนำมาซึ่งความมั่นคงทางสาธารณสุขของคนไทยต่อไป