เอสซีจี เผยแก้โจทย์เปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาด ด้วยจุดแข็งประเทศผสานเทคโนโลยี
สร้างโอกาสเอเชียเติบโตบนสังคม Net Zero
เอสซีจี เผยมุมมองการเปลี่ยนผ่านสู่สังคม Net Zero ควบคู่สร้างการเติบโตให้เอเชียอย่างยั่งยืน ต้องใช้จุดแข็งของประเทศผสานพลังของเทคโนโลยี แก้โจทย์พลังงานสะอาดและพัฒนานวัตกรรมกรีน ในงาน 3rdAnnual Sustainability Week Asia
การสร้างสมดุลระหว่างการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ควบคู่ความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจเป็นประเด็นที่ทั่วโลกให้ความสนใจ เพื่อสร้างการเติบโตร่วมกันอย่างยั่งยืนบนสังคม Net Zero นายธรรมศักดิ์ เศรษฐอุดม กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี ได้แบ่งปันมุมมองในประเด็นดังกล่าว ร่วมกับผู้นำองค์กรระดับโลกบนเวทีเสวนา หัวข้อ “Achieving Net Zero: Matching Ambition with Action” ในงาน 3rd Annual Sustainability Week Asia โดย Economist Impact เมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2567 ณ ดิ แอทธินี โฮเทล แบงค็อก อะ ลักซ์ชูรี คอลเล็คชันโฮเทล กรุงเทพฯ
นายธรรมศักดิ์ กล่าวบนเวทีเสวนาว่า “เอสซีจีเป็นอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ใช้พลังงานมาก ถ้าเอสซีจีจะไปถึงเป้าหมาย Net Zero 2050 ต้องปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิต อย่างธุรกิจเอสซีจี ซีเมนต์แอนด์กรีนโซลูชัน กำลังเดินหน้าปูนคาร์บอนต่ำด้วยนวัตกรรมวัสดุศาสตร์และเทคโนโลยีการผลิตมาตรฐานใหม่ พร้อมส่วนผสมพิเศษที่เอสซีจีพัฒนาขึ้นโดยเฉพาะ ทำให้ปูนคาร์บอนต่ำ เจเนอเรชันแรก สามารถลดคาร์บอนไดออกไซด์ ร้อยละ 10 ปีนี้เตรียมออกปูนคาร์บอนต่ำ เจเนอเรชันที่ 2 ซึ่งลดคาร์บอนไดออกไซด์ได้เพิ่มขึ้นจากรุ่นแรก อีกร้อยละ 5 และจะพัฒนารุ่นต่อ ๆ ไป ให้สามารถลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์มากขึ้นเรื่อย ๆ”
ในแง่ของความท้าทายนายธรรมศักดิ์มองถึงเรื่องการเข้าถึงพลังงานสะอาด “การปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิตสู่คาร์บอนต่ำให้ได้ไว ต้องมองหาพลังงานสะอาดที่ราคาจับต้องได้ เข้าถึงง่าย ซึ่งแต่ละพื้นที่มีสิ่งที่ตอบโจทย์แตกต่างกัน”
กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี ขยายความถึงแนวทางต่อว่า “เทคโนโลยีมีบทบาทสำคัญมากต่อการเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาด สิ่งสำคัญคือ การนำเทคโนโลยีมาผสานกับจุดแข็งของแต่ละพื้นที่หรือภูมิภาค เช่น ไทยเป็นประเทศเกษตรกรรม สามารถนำเทคโนโลยีมาเปลี่ยนพืชผลเกษตรเหลือใช้ อย่างใบอ้อย ฟางข้าว ซังข้าวโพดให้กลายเป็นเชื้อเพลิงชีวมวล ซึ่งเป็นเชื้อเพลิงทดแทนพลังงานฟอสซิล ช่วยลดคาร์บอนไดออกไซด์ ขณะที่ควบคุมต้นทุนได้ดี เอสซีจีจึงเร่งเพิ่มการใช้เชื้อเพลิงชีวมวลอย่างเต็มที่”
“นอกจากนั้น ผลิตผลเกษตรยังสามารถนำมาพัฒนานวัตกรรมกรีน อย่างพลาสติกชีวภาพ ซึ่งตลาดโลกต้องการมาก ทิศทางนี้จะช่วยให้เราเดินหน้าธุรกิจ เศรษฐกิจ ควบคู่กับสังคม Net Zero ได้เร็วยิ่งขึ้น องค์กรจึงควรลงทุนและสร้างความร่วมมือในการพัฒนาเทคโนโลยีกับทุกภาคส่วน”
นายธรรมศักดิ์ ทิ้งท้ายถึงความมุ่งมั่นของเอสซีจี “เราพร้อมร่วมขับเคลื่อนความยั่งยืนในเอเชียและทั่วโลก เพื่อสร้างสังคม Net Zero ให้เติบโตอย่างยั่งยืน ด้วยนวัตกรรมกรีน โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ตามแนวคิด ‘Passion for Inclusive Green Growth’ ของเอสซีจี”
3rd Annual Sustainability Week Asia โดย Economist Impact เวทีขับเคลื่อนความยั่งยืนระดับเอเชีย ภายใต้แนวคิด ‘Achieving climate targets, faster’ จัดขึ้นเพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็น มุมมองเชิงลึก และแนวทางการแก้ไขปัญหาที่ใช้ได้จริง เพื่อสร้างความร่วมมือแก้ไขปัญหาสภาพภูมิอากาศและการส่งต่อเทคโนโลยีโดยประเทศที่มีความก้าวหน้าด้านเศรษฐกิจ โดยมีผู้นำทางธุรกิจ ผู้กำหนดนโยบาย ผู้เชี่ยวชาญด้านวิทยาศาสตร์ ตัวแทนจากองค์กรระหว่างประเทศ และ NGOs ทั่วเอเชียเข้าร่วมกว่า 800 รายภายในงาน และจากช่องทางออนไลน์อีกกว่า 2,000 ราย