“บี จิสติกส์” ผู้ให้บริการขนส่งครบวงจร ประกาศเดินหน้าลุย 3 กลุ่มธุรกิจหลัก โลจิสติกส์ -พลังงานทดแทน-จำหน่ายน้ำดิบ ตั้งเป้าเติบโต 15% เผยเตรียมจับมือพันธมิตรพัฒนาแพลตฟอร์ม บริหารต้นทุนขนส่งและเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการลูกค้า ส่วนธุรกิจพลังงานทดแทน รุกหนักให้บริการรับเหมาก่อสร้างและติดตั้งโซลาร์เซลล์ครบวงจร คาดปีนี้ติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปได้ 80 เมกกะวัตต์ เน้นกลุ่มโรงงานอุตสาหกรรมในเขตพื้นที่อีอีซี และโรงไฟฟ้า
ดร.ปัญญา บุญญาภิวัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บี จิสติกส์ จำกัด (มหาชน) หรือ B เปิดเผยถึงเเผนการดำเนินงานปี 2567 ว่า ในฐานะที่บริษัทเป็นผู้ให้บริการโลจิสติกส์ครบวงจร ปีนี้นอกเหนือจากการให้บริการด้านการขนส่งแล้ว บริษัทยังแสวงหาพันธมิตรเพื่อขยายการลงทุนใหม่ๆ และสร้างมูลค่าเพิ่มในแต่ละกลุ่มธุรกิจให้มีอัตราการเติบโตแบบยั่งยืน ซึ่งประกอบไปด้วย ธุรกิจโลจิสติกส์ ธุรกิจพลังงานทดแทน ธุรกิจจำหน่ายน้ำดิบ โดยบริษัทตั้งเป้าหมายรายได้ปีนี้จะมีอัตราการเติบโตไม่ต่ำกว่า 15%
ธุรกิจโลจิสติกส์ ซึ่งเป็นธุรกิจหลักที่สร้างการเติบโตได้ดีมาตลอด ยังคงเน้นการขนส่งรูปแบบ B2B (Business-to-Business) ในหลายกลุ่มอุตสาหกรรม ปัจจุบันบริษัทมีศักยภาพในการขนส่งอย่างมาก โดยปัจจุบันบริษัท มีจำนวนรถหัวลากจำนวน 66 คัน และเป็นในส่วนของรถหัวลากจากพันธมิตรที่เป็นซับคอนแทรคอีกกว่า 100 คัน ซึ่งให้บริการเต็มทั้งหมด นอกจากนี้ยังได้จับมือกับพันธมิตรรายใหญ่ พัฒนาแพลตฟอร์มร่วมกันเพื่อการบริหารต้นทุนในการขนส่ง และเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการที่สามารถตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าได้
สำหรับธุรกิจพลังงานทดแทนดำเนินงานโดยบริษัท เดอะ เมกะวัตต์ จำกัด ซึ่งบริษัทถือหุ้นอยู่ราว 70% ยังคงเดินหน้าพัฒนาโรงไฟฟ้าแห่งใหม่และมีแผนที่จะขอใบอนุญาตทั้งในและต่างประเทศ โดยจะเน้นโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ กับ พลังงานน้ำ ซึ่งในปีนี้มีแผนที่จะรุกธุรกิจการให้บริการรับเหมาก่อสร้างและติดตั้งโซลาร์แบบครบวงจรทั้งในส่วนของ โซลาร์รูฟท็อป โซลาร์ลอยน้ำ และโซล่าร์ฟาร์ม โดยปีนี้ตั้งเป้าการให้บริการติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปประมาณ 80 เมกกะวัตต์ ซึ่งฐานลูกค้าหลักจะเป็นกลุ่มโรงงานอุตสาหกรรม โดยเฉพาะที่เป็นอุตสาหกรรมหนักในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) และโรงไฟฟ้า
“ในปี 2566 ที่ผ่านมา ได้จับมือกับพันธมิตรทั้งภาครัฐและเอกชน เข้าไปมีส่วนสำคัญในการให้บริการติดตั้งโซล่าร์รูฟท็อป ให้กับทางจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จำนวน 48 อาคาร รวม 68 เมกกะวัตต์ และแน่นอนว่าปีนี้จะยังคงจับมือกับพันธมิตรทั้งรายเก่าและรายใหม่” ดร.ปัญญา กล่าว
ส่วนธุรกิจจำหน่ายน้ำดิบที่ดำเนินงานโดย บริษัท เทพฤทธา จำกัด ซึ่งบริษัทถือหุ้นอยู่ 51 % ปีนี้ตั้งเป้ายอดขายน้ำไว้ที่ 10 ล้านลูกบาศก์เมตร( ลบ.ม) จากการหาพันธมิตรเพิ่มอีกหลายบ่อ ซึ่งจะเข้ามาช่วยซัพพอร์ตการเก็บกักน้ำไว้ให้กับบริษัท จากปัจจุบันบริษัทมีแหล่งน้ำอยู่จำนวน 2 บ่อ อย่างไรก็ตามในปีที่ผ่านมามียอดขายน้ำอยู่ที่ 6 ล้าน ลบ.ม. ถือเป็นการเติบโตที่ทรงตัว
“หลังจากที่บริษัทได้ทำการศึกษาเพื่อแสวงหาการลงทุนในธุรกิจใหม่ๆ โดยเฉพาะส่วนที่สามารถต่อยอดได้จากธุรกิจเดิม เช่นธุรกิจรีไซเคิลที่ต่อยอดจากธุรกิจโรงไฟฟ้าแล้ว การลุยธุรกิจคาร์บอนเครดิต การพยายามหาพันธมิตรรายใหม่เข้ามา จะช่วยเข้ามาเสริมและซัพพอร์ตธุรกิจได้อย่างมาก บวกกับภาพรวมเศรษฐกิจและการส่งออกที่กำลังฟื้นตัว เป้าหมายการเติบโตตามที่ตั้งไว้จาก 3 ธุรกิจ จึงไม่ใช่เรื่องยาก” ดร.ปัญญา กล่าว