เรื่องความยั่งยืน CSR ESG และ Sustainability 3 คำนี้ต่างกันอย่างไร?

CSR: ย่อมาจาก Corporate Social Responsibility หรือความรับผิดชอบต่อสังคมขององค์กร โดยเว็บไซต์ setsustainability.com
นิยาม CSR ว่า คือ การดำเนินธุรกิจควบคู่ไปกับการใส่ใจและดูแลรักษาสังคมและสิ่งแวดล้อมภายใต้หลักจริยธรรม การกำกับดูแลกิจการที่ดี และการนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาบูรณาการ เพื่อนำไปสู่การดำเนินธุรกิจที่ประสบความสำเร็จอย่างยั่งยืน
.
ESG หรือ Environment: E สิ่งแวดล้อม Social: S สังคม และ Governance: G บรรษัทภิบาล: เป็นแนวคิดหรือหลักเกณฑ์ในการประเมินและวัดผลความยั่งยืนของธุรกิจที่คำถึงถึงประเด็นสำคัญต่าง ๆ ใน 3 มิติ ซึ่งปัจจุบันมีสถาบันที่ให้คะแนนหรือจัดอันดับ ESG ให้กับองค์กรธุรกิจอยู่หลายแห่ง ภายใต้กรอบหรือมาตรฐานที่แตกต่างกัน และด้วยความที่ ESG เป็นแนวคิดที่มีตัวชี้วัดผลการดำเนินงานที่เป็นรูปธรรม ทำให้กลายเป็นกฎกติกาใหม่ในโลกธุรกิจและการลงทุนที่ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางในระดับประเทศและสากล
.
Sustainability หรือ ความยั่งยืน คือ เป้าหมายปลายทางที่ทุกภาคส่วนต้องการให้เกิดขึ้น โดยองค์การสหประชาชาติ (UN) ได้ให้นิยามไว้ว่า “การตอบสนองความต้องการของคนรุ่นปัจจุบัน โดยไม่กระทบหรือจำกัดความสามารถในการตอบสนองความต้องการของคนรุ่นต่อไป” ซึ่งสิ่งนี้จะเกิดขึ้นได้ ส่วนหนึ่งต้องมาจากภาคธุรกิจดำเนินงานบนพื้นฐานความรับผิดชอบต่อสังคม หรือ CSR (Corporate Social Responsibility) ควบคู่ไปกับการสร้างคุณค่าในระยะยาว (Long-term value creation) ภายใต้กรอบที่วัดผลทั้งมิติเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมได้อย่างชัดเจน
.
ถ้าเปรียบแล้ว CSR ก็คือจุดเริ่มต้น เพราะความยั่งยืนจะเกิดขึ้นไม่ได้เลย ถ้าไม่เริ่มลงมือทำก่อน ส่วน ESG เป็นจุดคัดกรอง ที่จะเป็นตัวบ่งบอกได้ว่า การกระทำที่เกิดขึ้นตรงกับหลักเกณฑ์ที่หน่วยงานกำกับระบุด้านไหน โดยที่มีเครื่องชี้วัดผลเป็นรูปธรรมได้ชัดเจน เพื่อให้มั่นใจว่า สิ่งที่กระทำนั้นถูกต้องและนำไปสู่ความยั่งยืนได้จริงๆ ในขณะที่ Sustainability คือจุดหมายปลายทางสุดท้ายที่เราต้องการจะไปให้ถึง ดังนั้นทั้ง 3 คำนี้ จึงมีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกัน แยกกันไม่ขาด โดยมีบทบาทหน้าที่ที่แตกต่างกัน
.
ที่มา: SCB CIO
.