DMT ชูนโยบาย ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกร้อยละ 30 ภายในปี 2024


DMT ชูนโยบาย ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกร้อยละ 30 ภายในปี 2024 พร้อมเดินหน้าองค์กร

สู่เป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี 2050

ดร.ศักดิ์ดา พรรณไวย กรรมการผู้จัดการ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ทางยกระดับดอนเมือง จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า บริษัท ทางยกระดับดอนเมือง จำกัด (มหาชน) หรือ DMT ได้บูรณาการโครงสร้างองค์กรและจัดตั้งคณะทำงาน 3Rs ขึ้นมาขับเคลื่อนองค์กรสู่ความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งมีผลงานโดดเด่นจนได้รับใบประกาศรับรอง ISO14001 ประกาศรับรองการแสดงคาร์บอนฟุตพริ้นท์ขององค์กร (Carbon Footprint of Organization) ผ่านการประเมินสำนักงานสีเขียว (Green Office) ระดับ “ดีเยี่ยม” และได้รับการประเมิน “หุ้นยั่งยืน SET ESG Ratings” ระดับ “A” ซึ่งรางวัลเหล่านี้เป็นการการันตีความมุ่งมั่นของทุกคนในองค์กรเป็นอย่างดี  และหมุดหมายสำคัญลำดับต่อไปขององค์กร คือ ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอีกร้อยละ 30 ภายในปี 2024 และตั้งเป้าหมายองค์กรที่เป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี 2050 ตามลำดับ

“กว่า 35 ปีที่ DMT เติบโตเคียงข้างคนไทย บริษัทให้ความสำคัญกับการดำเนินธุรกิจบนความยั่งยืน โดยได้ผสานแนวคิดเรื่ององค์กร ชุมชน สังคมและสิ่งแวดล้อม เข้าด้วยกันโดยมีเป้าหมายคือ การมีคุณภาพชีวิตที่ดีและอยู่ร่วมกันอย่างยั่งยืนไว้ในทุกกระบวนการทำงาน หล่อหลอมจนกลายเป็นวัฒนธรรมองค์กร โดยมีหลักคิดขององค์กรว่า การส่งมอบคุณค่าให้กับสังคมและสิ่งแวดล้อม ไม่ได้จำกัดหน้าที่เฉพาะฝ่ายที่ดูแลกิจกรรมเพื่อสังคมเท่านั้น เราบูรณาการคณะทำงานจากหลายๆ ฝ่ายรวมเข้าด้วยกัน ทำให้กิจกรรมเพื่อสิ่งแวดล้อมทุกโครงการ ดำเนินการได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ สามารถวัดผลได้ทั้งทางหลักวิทยาศาสตร์ (Science-based Targets : SBT) และเศรษฐศาสตร์ (Economic Outcome)” ดร.ศักดิ์ดากล่าว

ดร.ศักดิ์ดา เผยว่า บริษัทได้ทำการประเมินปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ปล่อยออกมาจากกิจกรรมต่างๆ ขององค์กรและได้รับประกาศนียบัตรการรับรองการแสดงคาร์บอนฟุตพริ้นท์ จากองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรือ อบก. โดยผลการทดสอบในปี 2022 บริษัทมีขอบเขตการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ทั้งทางตรง และทางอ้อม อยู่ที่ 3,463 ตันคาร์บอนไดออกไซต์ (TonCO2e) ต่อปี และวันนี้  บริษัทฯ ได้ประกาศแผนงานและเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง 30% หรือลดลงเหลือ 2,424 ตันคาร์บอนไดออกไซต์ (TonCO2e) ภายในปี 2024  ซึ่งเป็นเรื่องท้าทายที่ DMT จะร่วมกันทำกิจกรรมต่างๆ ในลักษณะ E-In Process ให้เป็นไปตามเป้าหมาย

ด้านนางอโนมา อุฤทธิ์ รองกรรมการผู้จัดการ สายงานปฏิบัติการ กล่าวเสริมถึงแผนงานลดก๊าซเรือนกระจกในสายงานปฏิบัติการว่า แผนงานติดตั้งโซลาร์ รูฟท็อป (Solar Rooftop) ผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ บนหลังคาอาคารด่านเก็บค่าผ่านทางทั้ง 9 ด่าน จะแล้วเสร็จช่วงพฤษภาคม 2024 ซึ่งบริษัทประมาณการว่าเมื่อติดตั้งครบทั้งระบบจะช่วยประหยัดค่าไฟฟ้าเฉลี่ยร้อยละ 30 เทียบเท่าลดก๊าซเรือนกระจกได้ประมาณ 348 ตันคาร์บอนไดออกไซต์ (TonCO2e) ต่อปี โดยเดือนกันยายนที่ผ่านมา นับเป็นเดือนแรกที่บริษัทเริ่มผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์เซล ที่ติดตั้งบนอาคารสำนักงานใหญ่และหลังคาด่านดอนเมือง สามารถผลิตไฟฟ้าได้เต็มที่ 21,000 กิโลวัตต์-ชั่วโมง ลดค่าไฟฟ้าได้กว่า 1 แสนบาท เทียบเท่าลดก๊าซเรือนกระจกได้ประมาณ 11 ตันคาร์บอนไดออกไซต์ต่อเดือน (TonCO2e) และอีกโครงการที่ DMT ริเริ่มตั้งแต่ปีที่แล้วในด้านนวัตกรรมพลังงานสะอาด คือการนำแผงโซลาเซลล์และแบตเตอรี่สำรองไฟ ติดตั้งไว้กับรถปฏิบัติการงานซ่อมบำรุง สำหรับออกปฏิบัติงานช่วงกลางคืนโดยไม่ต้องติดเครื่องยนต์  สามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ชัดเจน ลดการสูญเสียน้ำมันเชื้อเพลิงได้ 450 ลิตรต่อปี เทียบเท่าลดก๊าซเรือนกระจกได้ประมาณ 1.2 ตันคาร์บอนไดออกไซต์ (TonCO2e) ต่อปี

นายนพพล โพธิ์ขี ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาธุรกิจและกลยุทธ์เพื่อความยั่งยืน กล่าวถึงอีกแผนงานที่สามารถลดก๊าซเรือนกระจกได้โดยตรงว่า  ปัจจุบันบริษัทมีนโยบายเปลี่ยนยานพาหนะพลังงานไฟฟ้า 100% มาใช้ในงานกิจกรรมและการปฏิบัติงานของบริษัท โดยได้รับการสนับสนุนรถพลังงานไฟฟ้าและข้อมูลด้านเทคนิคจาก บริษัท เน็กซ์ พอยท์ จำกัด (มหาชน) ทั้งรถบัสพลังงานไฟฟ้าและรถกระบะพลังงานไฟฟ้า สำหรับเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการทดสอบการใช้งาน เพื่อประเมินประสิทธิภาพของรถ เปรียบเทียบความประหยัดและเป็นการลดก๊าชเรือนกระจกขององค์กรอย่างต่อเนื่อง  

“สำหรับการบริการและอำนวยความสะดวกให้แก่รถผู้ใช้ทาง ปัจจุบันเรามีสถานีอัดประจุไฟฟ้าแบบ Quick Charge ติดตั้งที่อาคารสำนักงานใหญ่ สำหรับช่วยเหลือฉุกเฉินกรณีรถยนต์ไฟฟ้าแบตเตอรี่หมดบนสายทางอุตราภิมุข และภายในไตรมาสแรกของปีหน้า เราจะเปิดสถานีอัดประจุไฟฟ้าแบบ Quick Charge อีกแห่งที่ด่านเก็บค่าผ่านทางดินแดง เพื่อให้บริการผู้ใช้ทางได้ชาร์จก่อนขึ้นบนสายทาง” นายนพพลเผย

นายนพพล ให้ข้อมูลต่อว่า นอกจากนี้ บริษัทอยู่ระหว่างการสร้าง Ecosystem โดยในปีที่ผ่านมาบริษัทได้นำฝุ่นที่มาจากการดูดกวาดบนสายทางในแต่ละวัน มาผสมกับขยะพลาสติกทั้งหมด 5 ประเภทคือ HDPE, PP, PS, PET และพลาสติกรวม โดยในการทดลองนั้นจะปรับสัดส่วนของฝุ่นและปริมาณพลาสติกแต่ละประเภท เพื่อหาแนวทางการขึ้นรูปผลิตอิฐก้อนหรือแผ่นกระเบื้อง และนำไปทดสอบความแข็งแรงทนทานผ่านการรับรองจากสถาบัน ซึ่งปัจจุบันบริษัทได้ดำเนินการเสนอจดสิทธิบัตรเรียบร้อยแล้ว