“เศรษฐกิจไทยในเดือนตุลาคม 2566 ได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการส่งออกสินค้าที่ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 และภาคการท่องเที่ยวที่ขยายตัวต่อเนื่องทั้งจากนักท่องเที่ยวต่างประเทศและผู้เยี่ยมเยือนชาวไทย รวมถึงอัตราเงินเฟ้อที่ปรับตัวลดลงต่อเนื่อง อย่างไรก็ดี ยังคงต้องติดตามสถานการณ์เศรษฐกิจโลกและผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยในด้านต่าง ๆ”
นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง เปิดเผยภาวะเศรษฐกิจการคลังประจำเดือนตุลาคม 2566 ว่า “เศรษฐกิจไทยในเดือนตุลาคม 2566 ได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการส่งออกสินค้าที่ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 และภาคการท่องเที่ยวที่ขยายตัวต่อเนื่องทั้งจากนักท่องเที่ยวต่างประเทศและผู้เยี่ยมเยือนชาวไทย รวมถึงอัตราเงินเฟ้อที่ปรับตัวลดลงต่อเนื่อง อย่างไรก็ดี ยังคงต้องติดตามสถานการณ์เศรษฐกิจโลกและผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยในด้านต่าง ๆ” โดยมีรายละเอียดสรุปได้ ดังนี้
เครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการบริโภคภาคเอกชน มีสัญญาณปรับตัวดีขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อน: โดยการบริโภคในหมวดสินค้าคงทน สะท้อนจากปริมาณการจำหน่ายรถยนต์นั่ง และปริมาณรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ ในเดือนตุลาคม 2566 เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ร้อยละ 13.7 และ 4.4 และเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาลที่ร้อยละ 5.8 และ 1.7 ตามลำดับ ภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ระดับราคาคงที่ ในเดือนตุลาคม 2566 เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อนร้อยละ 5.2 และเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาลที่ร้อยละ 5.2 และรายได้เกษตรกรที่แท้จริง ในเดือนตุลาคม 2566 เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ร้อยละ 0.6 ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภค ในเดือนตุลาคม 2566 ปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 60.2 จากระดับ 58.7 ในเดือนก่อน ซึ่งเป็นการปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 สะท้อนความเชื่อมั่นของผู้บริโภคต่อภาวะเศรษฐกิจที่ปรับตัวดีขึ้น ต่อเนื่อง
เครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการลงทุนภาคเอกชน มีสัญญาณปรับตัวดีขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อน: โดยการลงทุนภาคเอกชนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักร สะท้อนจากปริมาณนำเข้าสินค้าทุน ในเดือนตุลาคม 2566 เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ร้อยละ 22.3 และเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาลที่ร้อยละ 4.5 ขณะที่ปริมาณการจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ ในเดือนตุลาคม 2566 ลดลงจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ร้อยละ -18.4 สำหรับการลงทุนในหมวดการก่อสร้าง สะท้อนจากปริมาณการจำหน่ายปูนซีเมนต์ภายในประเทศ ในเดือนตุลาคม 2566 เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ร้อยละ 3.9 แต่ลดลงเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาลที่ร้อยละ -2.0 ขณะที่ภาษีธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ร้อยละ 9.0 และเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาลที่ร้อยละ 2.6
มูลค่าการส่งออกสินค้าขยายตัวต่อเนื่องจากช่วงเดียวกันปีก่อน: โดยมูลค่าการส่งออกสินค้ารวมในรูปเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐ ในเดือนตุลาคม 2566 อยู่ที่ 23,578.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ร้อยละ 8.0 และหากพิจารณาเฉพาะมูลค่าการส่งออกสินค้าที่ไม่รวมน้ำมันและสินค้าที่เกี่ยวเนื่อง ทองคำ และยุทธปัจจัย พบว่า เพิ่มขึ้นที่ร้อยละ 5.4 ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการขยายตัวของสินค้าในหมวดหม้อแปลงไฟฟ้าและส่วนประกอบ อุปกรณ์กึ่งตัวนำฯ เครื่องโทรศัพท์อุปกรณ์และส่วนประกอบ และรถยนต์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ โดยขยายตัวร้อยละ 38.5 27.3 15.1 และ 9.0 ตามลำดับ นอกจากนี้ สินค้าในหมวดผลไม้สดแช่เย็นแช่แข็งและแห้ง ข้าว สิ่งปรุงรสอาหาร และผักกระป๋องและผักแปรรูป ขยายตัวร้อยละ 44.6 37.7 29.4 และ 19.4 ตามลำดับ อย่างไรก็ดี การส่งออกยางพารา เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ และน้ำตาลทรายชะลอตัว ทั้งนี้ เมื่อพิจารณามูลค่าการส่งออกสินค้า โดยจำแนกเป็นรายตลาดคู่ค้าหลักของไทย พบว่า ปรับตัวดีขึ้นในตลาดสหรัฐฯ ทวีปออสเตรเลีย อินเดีย และจีน ที่ขยายตัวร้อยละ 13.8 13.7 8.6 และ 3.4 ตามลำดับรวมทั้งกลุ่มตลาดอื่น ๆ ที่ขยายตัวได้ดี อาทิ กลุ่มประเทศเครือรัฐเอกราช (Commonwealth of Independent States: CIS) ที่ขยายตัวร้อยละ 77.2 อย่างไรก็ดี ตลาดญี่ปุ่น และยูโรโซน ลดลงจากเดือนก่อน
เครื่องชี้เศรษฐกิจไทยด้านอุปทาน มีสัญญาณปรับตัวดีขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อนจากภาคบริการ: โดยภาคบริการด้านการท่องเที่ยว ในเดือนตุลาคม 2566 มีนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่เดินทางเข้าประเทศไทยรวม จำนวน 2.20 ล้านคน คิดเป็นอัตราการขยายตัวต่อเนื่องจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ร้อยละ 49.7 แต่ลดลงเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาลที่ร้อยละ -43.6 โดยส่วนใหญ่เป็นนักท่องเที่ยวจากมาเลเซีย จีน อินเดีย เกาหลีใต้ และรัสเซีย ตามลำดับ เช่นเดียวกับการท่องเที่ยวภายในประเทศที่มีผู้เยี่ยมเยือนชาวไทย ในเดือนตุลาคม 2566 จำนวน 20.7 ล้านคน คิดเป็นอัตราการขยายตัวจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ร้อยละ 17.0 แต่ลดลงเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาลที่ร้อยละ -12.9 ขณะที่ภาคการเกษตร สะท้อนจากดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรกรรม ในเดือนตุลาคม 2566 ลดลงเล็กน้อยจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ร้อยละ -0.9 และลดลงเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาลที่ร้อยละ -2.4 จากการลดลงของผลผลิตในหมวดพืชผลสำคัญ อาทิ ข้าว ยางพารา และปาล์มน้ำมัน อย่างไรก็ดี ผลผลิตข้าวโพดยังคงขยายตัว สำหรับภาคอุตสาหกรรม สะท้อนจากดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือนตุลาคม 2566 ลดลงมาอยู่ที่ระดับ 88.4 จากระดับ 90.0 ในเดือนก่อนหน้า เนื่องจากมีความกังวลว่าเศรษฐกิจโลกจะชะลอตัว
เสถียรภาพเศรษฐกิจยังอยู่ในเกณฑ์ดี: สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือนตุลาคม 2566 อยู่ที่ร้อยละ -0.31 ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ร้อยละ 0.66 ส่วนสัดส่วนหนี้สาธารณะ ณ สิ้นเดือนกันยายน 2566 อยู่ที่ร้อยละ 62.1 ต่อ GDP ซึ่งยังอยู่ภายใต้กรอบวินัยการเงินการคลังที่ตั้งไว้ตามพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 สำหรับเสถียรภาพภายนอกยังอยู่ในระดับที่มั่นคง และสามารถรองรับความเสี่ยงจากความผันผวนของเศรษฐกิจโลกได้ สะท้อนจากทุนสำรองระหว่างประเทศ ณ สิ้นเดือนตุลาคม 2566 อยู่ในระดับสูงที่ 210.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ
ด้านเศรษฐกิจภูมิภาคประจำเดือนตุลาคม 2566 ได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการท่องเที่ยวที่ขยายตัวได้ในทุกภูมิภาค และความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมที่ปรับดีขึ้นในภาคใต้ และภาคตะวันออก” โดยมีรายละเอียดดังนี้
เศรษฐกิจภาคเหนือในเดือนตุลาคม 2566 ได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการบริโภคภาคเอกชน และการท่องเที่ยวที่ขยายตัวได้ อีกทั้งการลงทุนภาคเอกชนที่ปรับตัวดีขึ้น โดยเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการบริโภคภาคเอกชน สะท้อนจากการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ จำนวนรถยนต์นั่งจดทะเบียนใหม่ และรายได้เกษตรกรขยายตัวร้อยละ 5.1 8.3 และ 15.7 ต่อปี ตามลำดับ ขณะที่จำนวนรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ชะลอตัว ทั้งนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคอยู่ที่ระดับ 60.9 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าซึ่งอยู่ที่ระดับ 59.7 เครื่องชี้ด้านการลงทุนภาคเอกชน สะท้อนจากจำนวนรถบรรทุกจดทะเบียนใหม่ขยายตัวร้อยละ 19.3 ต่อปี อีกทั้งเงินทุนของโรงงานที่เริ่มประกอบกิจการมีมูลค่า 847.4 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 16.2 ต่อปี โดยเป็นการลงทุนในโรงงานคัดแยกวัสดุที่ไม่ใช้แล้ว ในจังหวัดนครสวรรค์ เป็นสำคัญ ขณะที่จำนวนรถยนต์บรรทุกส่วนบุคคลจดทะเบียนใหม่ชะลอตัว ด้านอุปทาน เครื่องชี้ภาคอุตสาหกรรม สะท้อนจากดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมอยู่ที่ระดับ 93.4 ลดลงจากเดือนก่อนหน้าซึ่งอยู่ที่ระดับ 97.4 เครื่องชี้ด้านการบริการ สะท้อนจากจำนวนผู้เยี่ยมเยือนและรายได้จากผู้เยี่ยมเยือนขยายตัวร้อยละ 11.8 และ 33.7 ต่อปี ตามลำดับ
เศรษฐกิจภาคกลางในเดือนตุลาคม 2566 ได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการบริโภคภาคเอกชนและการท่องเที่ยวที่ขยายตัวได้ อีกทั้งความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่ปรับตัวดีขึ้น โดยเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการบริโภคภาคเอกชน สะท้อนจากการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ จำนวนรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ รายได้เกษตรกรขยายตัวร้อยละ 7.8 9.5 และ 4.4 ต่อปี ตามลำดับ ขณะที่จำนวนรถยนต์นั่งจดทะเบียนใหม่ชะลอตัว ทั้งนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคอยู่ที่ระดับ 58.4 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าซึ่งอยู่ที่ระดับ 57.0 เครื่องชี้ด้านการลงทุนภาคเอกชน สะท้อนจากจำนวนรถบรรทุกจดทะเบียนใหม่ขยายตัวร้อยละ 27.2 ต่อปี แต่ชะลอตัวร้อยละ -1.5 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาล ขณะที่จำนวนรถยนต์บรรทุกส่วนบุคคลจดทะเบียนใหม่และเงินทุนของโรงงานที่เริ่มประกอบกิจการชะลอตัว ด้านอุปทาน เครื่องชี้ภาคอุตสาหกรรม สะท้อนจากดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมอยู่ที่ระดับ 89.1 ลดลงจากเดือนก่อนหน้าซึ่งอยู่ที่ระดับ 92.1 เครื่องชี้ด้านการบริการ สะท้อนจากจำนวนผู้เยี่ยมเยือน และรายได้จากผู้เยี่ยมเยือนขยายตัวร้อยละ 28.0 และ 52.0 ต่อปี ตามลำดับ เศรษฐกิจภาคใต้ในเดือนตุลาคม 2566 ได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการบริโภคภาคเอกชนและการท่องเที่ยวที่ขยายตัวได้ อีกทั้งความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมที่ปรับตัวดีขึ้น โดยเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการบริโภคภาคเอกชน สะท้อนจากจำนวนรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ขยายตัวร้อยละ 10.8 ต่อปี เช่นเดียวกับการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ และจำนวนรถยนต์นั่งจดทะเบียนใหม่ขยายตัวร้อยละ 2.5 และ 6.9 ต่อปี แต่ชะลอตัวร้อยละ -2.1 และ -3.6 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาล ตามลำดับ ส่วนรายได้เกษตรกรชะลอตัวร้อยละ -7.6 ต่อปี แต่ขยายตัวร้อยละ 0.8 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาล ทั้งนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคอยู่ที่ระดับ 57.1 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าซึ่งอยู่ที่ระดับ 55.6 เครื่องชี้ด้านการลงทุนภาคเอกชน สะท้อนจากจำนวนรถยนต์บรรทุกส่วนบุคคลจดทะเบียน จำนวนรถบรรทุกจดทะเบียนใหม่ และเงินทุนของโรงงานที่เริ่มประกอบกิจการชะลอตัว ด้านอุปทาน เครื่องชี้ภาคอุตสาหกรรม สะท้อนจากดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมอยู่ที่ระดับ 92.2 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าซึ่งอยู่ที่ระดับ 90.2 เครื่องชี้ด้านการบริการ สะท้อนจากจำนวนผู้เยี่ยมเยือน และรายได้จากผู้เยี่ยมเยือนขยายตัวร้อยละ 63.8 และ 64.5 ต่อปี ตามลำดับ
เศรษฐกิจ กทม. และปริมณฑลในเดือนตุลาคม 2566 ได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการบริโภคภาคเอกชน และการท่องเที่ยวที่ขยายตัวได้ โดยเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการบริโภคภาคเอกชน สะท้อนจากการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ จำนวนรถยนต์นั่งจดทะเบียนใหม่ และจำนวนรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ขยายตัวร้อยละ 5.2 5.4 และ 13.1 ต่อปี ตามลำดับ ขณะที่รายได้เกษตรกรชะลอตัวร้อยละ -10.4 ต่อปี แต่ขยายตัวร้อยละ 0.7 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาล ทั้งนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคอยู่ที่ระดับ 60.0 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าซึ่งอยู่ที่ระดับ 58.3 เครื่องชี้ด้านการลงทุนภาคเอกชน สะท้อนจากจำนวนรถยนต์บรรทุกส่วนบุคคลจดทะเบียนใหม่ จำนวนรถบรรทุกจดทะเบียนใหม่ และเงินทุนของโรงงานที่เริ่มประกอบกิจการชะลอตัว ด้านอุปทาน เครื่องชี้ภาคอุตสาหกรรม สะท้อนจากดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมอยู่ที่ระดับ 89.1 ลดลงจากเดือนก่อนหน้าซึ่งอยู่ที่ระดับ 92.1 เครื่องชี้ด้านการบริการ สะท้อนจากจำนวนผู้เยี่ยมเยือน และรายได้จากผู้เยี่ยมเยือนขยายตัวร้อยละ 21.9 และ 62.6 ต่อปี ตามลำดับ
เศรษฐกิจภาคตะวันออกในเดือนตุลาคม 2566 ได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการบริโภคภาคเอกชน และการท่องเที่ยวที่ขยายตัวได้ อีกทั้งความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมที่ปรับตัวดีขึ้น โดยเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการบริโภคภาคเอกชน สะท้อนจากจำนวนรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ขยายตัวร้อยละ 0.6 ต่อปี เช่นเดียวกับการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ขยายตัวร้อยละ 2.5 ต่อปี แต่ชะลอตัวร้อยละ -0.4 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาล จำนวนรถยนต์นั่งจดทะเบียนใหม่ชะลอตัวร้อยละ -2.3 ต่อปี แต่ขยายตัวร้อยละ 8.8 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาล ขณะที่รายได้เกษตรกรชะลอตัว ทั้งนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคอยู่ที่ระดับ 62.8 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าซึ่งอยู่ที่ระดับ 61.3 เครื่องชี้ด้านการลงทุนภาคเอกชน สะท้อนจากจำนวนรถบรรทุกจดทะเบียนใหม่ขยายตัวร้อยละ 1.6 ต่อปี แต่ชะลอตัวร้อยละ -2.5 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาล ส่วนจำนวนรถยนต์บรรทุกส่วนบุคคลจดทะเบียนใหม่ชะลอตัว อย่างไรก็ตามเงินทุนของโรงงานที่เริ่มประกอบกิจการมีมูลค่า 1,625.2 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 3.0 ต่อปี โดยเป็นการลงทุนในโรงงานผลิตลวดเหล็กแรงดึงสูงและลวดเหล็กตีเกลียวที่ทำขึ้นด้วยกรรมวิธีการรีดเส้น ในจังหวัดชลบุรี เป็นสำคัญ ด้านอุปทาน เครื่องชี้ภาคอุตสาหกรรม สะท้อนจากดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมอยู่ที่ระดับ 83.7 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าซึ่งอยู่ที่ระดับ 80.2 เครื่องชี้ด้านการบริการ สะท้อนจากจำนวนผู้เยี่ยมเยือนและรายได้จากผู้เยี่ยมเยือนขยายตัวร้อยละ 35.7 และ 69.7 ต่อปี ตามลำดับ
เศรษฐกิจภาคตะวันตกในเดือนตุลาคม 2566 ได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการบริโภคภาคเอกชนในหมวดสินค้าคงทน และการท่องเที่ยวที่ขยายตัวได้ โดยเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการบริโภคภาคเอกชน สะท้อนจากจำนวนรถยนต์นั่งจดทะเบียนใหม่ จำนวนรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ และรายได้เกษตรกรขยายตัวร้อยละ 5.2 5.1 และ 4.4 ต่อปี ตามลำดับ ขณะที่ การจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ชะลอตัว ทั้งนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคอยู่ที่ระดับ 58.4 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าซึ่งอยู่ที่ระดับ 57.0 เครื่องชี้ด้านการลงทุนภาคเอกชน สะท้อนจากจำนวนรถยนต์บรรทุกส่วนบุคคลจดทะเบียนใหม่ชะลอตัวร้อยละ -1.1 ต่อปี แต่ขยายตัวร้อยละ 15.6 เมื่อเทียบกับ
เดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาล ขณะที่จำนวนรถบรรทุกจดทะเบียนใหม่ขยายตัวร้อยละ 9.7 ต่อปี แต่ชะลอตัวร้อยละ -12.8 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาล ขณะที่เงินทุนของโรงงานที่เริ่มประกอบกิจการ ชะลอตัว ด้านอุปทาน เครื่องชี้ภาคอุตสาหกรรม สะท้อนจากดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมอยู่ที่ระดับ 89.1 ลดลงจากเดือนก่อนหน้าซึ่งอยู่ที่ระดับ 92.1 เครื่องชี้ด้านการบริการ สะท้อนจากจำนวนผู้เยี่ยมเยือน และรายได้จากผู้เยี่ยมเยือนขยายตัวร้อยละ 17.6 และ 28.0 ต่อปี ตามลำดับ
เศรษฐกิจภาคตะวันออกเฉียงเหนือในเดือนตุลาคม 2566 ได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการท่องเที่ยวที่ขยายตัวได้ และภาคการลงทุนที่ปรับตัวดีขึ้น โดยเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการบริโภคภาคเอกชน สะท้อนจากการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ และรายได้เกษตรกรขยายตัวร้อยละ 4.9 และ 10.3 ต่อปี ตามลำดับ ขณะที่จำนวนรถยนต์นั่งจดทะเบียนใหม่ และจำนวนรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ชะลอตัว ทั้งนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคอยู่ที่ระดับ 62.9 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าซึ่งอยู่ที่ระดับ 61.7 เครื่องชี้ด้านการลงทุนภาคเอกชน สะท้อนจาก จำนวนรถบรรทุกจดทะเบียนใหม่ขยายตัวร้อยละ 1.2 ต่อปี เช่นเดียวกับเงินทุนของโรงงานที่เริ่มประกอบกิจการ
มีมูลค่า 363.7 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 1.4 ต่อปี โดยเป็นการลงทุนในโรงงานผลิตและประกอบบ้านสำเร็จรูป และผลิตภัณฑ์โลหะสำหรับใช้ในการก่อสร้าง ในจังหวัดขอนแก่น เป็นสำคัญ อย่างไรก็ตาม จำนวนรถยนต์บรรทุกส่วนบุคคลจดทะเบียนใหม่ชะลอตัว ด้านอุปทาน เครื่องชี้ภาคอุตสาหกรรม สะท้อนจากดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมอยู่ที่ระดับ 85.8 ลดลงจากเดือนก่อนหน้าซึ่งอยู่ที่ระดับ 91.2 เครื่องชี้ด้านการบริการ สะท้อนจากจำนวนผู้เยี่ยมเยือน และรายได้จากผู้เยี่ยมเยือนขยายตัวร้อยละ 21.5 และ 32.3 ต่อปี ตามลำดับ