S&P คงอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศไทย (Sovereign Credit Rating) ที่ BBB+ และคงมุมมองความน่าเชื่อถือของประเทศไทยอยู่ในระดับมีเสถียรภาพ (Stable Outlook)
นางจินดารัตน์ วิริยะทวีกุล ที่ปรึกษาด้านหนี้สาธารณะ โฆษกสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ เปิดเผยว่าวันนี้ (วันที่ 28 พฤศจิกายน 2566) บริษัท S&P Global Ratings (S&P) ได้คงอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศไทย (Sovereign Credit Rating) ที่ BBB+ และคงมุมมองความน่าเชื่อถือของประเทศไทย (Outlook) ที่ระดับมีเสถียรภาพ (Stable Outlook) โดยมีสาระสำคัญ ดังนี้
1) เศรษฐกิจไทยคาดว่าจะฟื้นตัวและเติบโตอย่างรวดเร็วจากร้อยละ 2.5 ในปี 2566 เป็นร้อยละ 4.2 ในปี 2567 เนื่องจากการดำเนินมาตรการทางการคลังและการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว อีกทั้งอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่แท้จริง (Real GDP Growth) จะเติบโตเฉลี่ยร้อยละ 3.2 ในช่วงปี 2566 – 2569 ขณะที่สัดส่วนการขาดดุลงบประมาณต่อ GDP เฉลี่ยคาดว่าจะอยู่ต่ำกว่าร้อยละ 4 ในช่วงปี 2567 – 2569 นอกจากนี้ รัฐบาลไทยจะยังคงเน้นการลงทุนตามยุทธศาสตร์ชาติและแผนการปฏิรูปประเทศ ซึ่งรวมถึงโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor: EEC) และโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งตามแผนแม่บท โดยคาดว่าการลงทุนของรัฐวิสาหกิจและความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน (Public-Private-Partnerships) จะมีบทบาทสำคัญในขับเคลื่อนโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ ซึ่งการลงทุนอย่างต่อเนื่องจะช่วยฟื้นฟูความสามารถในการแข่งขันของเศรษฐกิจไทยในระยะต่อไป
2) หนี้ภาครัฐบาลสุทธิ (Net General Government Debt) อยู่ในระดับปานกลาง ขณะที่ภาคการเงินต่างประเทศ (External Finance) แข็งแกร่งอย่างต่อเนื่อง โดยคาดว่าดุลบัญชีเดินสะพัดจะยังคงเกินดุลตั้งแต่ปี 2567 - 2569 เนื่องจากการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว (Services Exports) เป็นสำคัญ
3) ปัจจัยที่มีผลต่อการปรับอันดับความน่าเชื่อถือ คือ การเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ ระดับรายได้ต่อหัว (Per Capita Income) ความเข้มแข็งทางการคลัง และเสถียรภาพทางการเมือง