STA คาดผลงาน Q4 ฟื้นตัว รับผลผลิตยางออกสู่ตลาดเพิ่มขึ้นและราคาขายที่ดีขึ้น
ไตรมาส 3/66 ทำรายได้จากการขายและบริการ 16,882.5 ล้านบาท
บมจ.ศรีตรังแอโกรอินดัสทรี (“STA” หรือ “บริษัทฯ) คาดการณ์ผลการดำเนินงานไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ฟื้นตัวจากไตรมาส 3/2566 ที่จะเป็นจุดต่ำสุด รับปัจจัยบวกผลผลิตยางออกสู่ตลาดเพิ่มขึ้น ราคาขายเฉลี่ยยางแท่ง TSR 20 ณ ตลาด SICOM ในเดือนตุลาคมที่ผ่านมาเพิ่มขึ้นประมาณ 8% จากไตรมาส 3/2566 และสต๊อกยางของผู้ประกอบการยางล้อที่เริ่มลดลง พร้อมจัดตั้งศูนย์รับซื้อวัตถุดิบแห่งที่ 2 ในประเทศไอวอรี่โคสต์ เพื่อเพิ่มศักยภาพการจัดหา
แหล่งวัตถุดิบใหม่
นายวีรสิทธิ์ สินเจริญกุล กรรมการผู้จัดการใหญ่และกรรมการบริหาร บริษัท ศรีตรังแอโกรอินดัสทรี จำกัด (มหาชน) ผู้นำในธุรกิจยางธรรมชาติครบวงจรรายใหญ่ที่สุดของโลกและผู้ผลิตถุงมือยางรายใหญ่ที่สุดในประเทศไทย เปิดเผยว่า แนวโน้มผลการดำเนินงานไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ คาดว่าจะปรับตัวดีขึ้นจากไตรมาส 3/2566 ที่เป็นจุดต่ำสุดของปี หลังจากเกิดปรากฏการณ์เอลนีโญทำให้มีปริมาณฝนลดลงในพื้นที่เพาะปลูกยางหลายจังหวัด ส่งผลกระทบต่อผลผลิตยางของเกษตรกรชาวสวนยางที่ออกสู่ตลาดลดลงในช่วงที่ผ่านมา ทำให้การบริหารจัดการวัตถุดิบและอัตราการใช้กำลังการผลิตในปีนี้มีความท้าทายเพิ่มขึ้น
ทั้งนี้ คาดว่าปัจจัยบวกที่จะส่งผลดีต่อแนวโน้มผลการดำเนินงานไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ ได้แก่ 1) เกษตรกรชาวสวนยางเริ่มกลับเปิดกรีดยางได้ตั้งแต่เดือนกรกฏาคมที่ผ่านมา ส่งผลมีผลผลิตยางออกสู่ตลาดเพิ่มขึ้นและเข้าสู่ช่วงพีคในไตรมาสนี้ หลังผลกระทบจากปรากฏการณ์เอลนีโญทำให้การเปิดกรีดยางในปีนี้ล่าช้ากว่าปกติ 1.5 – 2 เดือน 2) ราคาขายเฉลี่ยยางแท่ง TSR 20 ณ ตลาด SICOM ล่าสุดในเดือนตุลาคม 2566 ปรับตัวเพิ่มขึ้นประมาณ 8%
อยู่ที่ 144.1 เซนต์ต่อกิโลกรัม เทียบกับไตรมาส 3/2566 ที่มีราคาขายเฉลี่ย 133.5 เซนต์ต่อกิโลกรัม 3) ระดับสต๊อกของผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมยางล้อที่เป็นผู้ซื้อยางรายใหญ่เริ่มทยอยลดลง โดยคาดว่าจะเริ่มเห็นดีมานด์ค่อยๆ เพิ่มขึ้นในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีนี้หรือไตรมาสแรกของปี 2567 และ 4) การเพิ่มศักยภาพการจัดหาแหล่งวัตถุดิบใหม่เพื่อรองรับแผนงานขยายธุรกิจ โดยล่าสุดได้จัดตั้งศูนย์รับซื้อวัตถุดิบแห่งที่ 2 ในประเทศไอวอรี่โคสต์ หรือสาธารณรัฐโกตติวัวร์ (Cote d’lvoire) เมื่อต้นเดือนพฤศจิกายน 2566
อย่างไรก็ดี บริษัทฯ ยังคงจับตามองปัจจัยอื่นๆเพิ่มเติมที่อาจส่งผลกระทบต่อความไม่แน่นอนของอุปสงค์ยางธรรมชาติ ทั้งการชะลอตัวทางเศรษฐกิจในหลายหลายภูมิภาคทั่วโลก เช่น จีน ยุโรป และสหรัฐอเมริกา รวมถึงความตึงเครียดทางรัฐภูมิศาสตร์ในหลายพื้นที่ ความขัดแย้งระหว่างอิสราเอล - ฮามาส รวมถึงสงครามรัสเซีย - ยูเครน ซึ่งหากขยายวงกว้างจะส่งผลกระทบต่อการค้าโลกอย่างมีนัยสำคัญ
ส่วนผลการดำเนินงานไตรมาส 3/25666 บริษัทฯ มีรายได้จากการขายและบริการ 16,882.5ล้านบาท ชะลอตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อนและไตรมาสก่อนหน้า เนื่องจากได้รับผลกระทบจากปัญหาการขาดแคลนวัตถุดิบจากการเกิดปรากฏการณ์เอลนีโญ ส่งผลให้บริษัทฯ มีปริมาณการขายยางธรรมชาติลดลง ขณะเดียวกันภาพรวมผลการดำเนินงานงวด 9 เดือนแรกของปี 2566 มีรายได้จากการขายและบริการ 62,535.8 ล้านบาท ชะลอตัวลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนเช่นกัน