“ตลาดหลักทรัพย์ฯ” เปิดตัว SET ESG Ratings เพื่อประเมินหุ้นยั่งยืนของบริษัทจดทะเบียน ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

“ตลาดหลักทรัพย์ฯ” เปิดตัว SET ESG Ratings เพื่อประเมินหุ้นยั่งยืนของบริษัทจดทะเบียน ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

‘ศรพล ตุลยะเสถียร’ รองผู้จัดการ หัวหน้าสายงานวางแผนกลยุทธ์องค์กร ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) กล่าวว่า ตลท.ได้เปลี่ยนชื่อเดิมจาก ‘หุ้นยั่งยืน THSI’ (Thailand Sustainability Investment) เป็น ‘หุ้นยั่งยืน SET ESG Ratings’

พร้อมทั้งประกาศผลการประเมินในรูปแบบรายชื่อบริษัทจดทะเบียนและระดับ SET ESG Ratings เป็นปีแรก ซึ่งต่างจากเดิมที่ประกาศผลเป็นรายชื่อบริษัทจดทะเบียนเท่านั้นซึ่งจะเริ่มใช้ชื่อ SETESG Index จะเริ่มใช้และเผยแพร่บนเว็บไซต์พร้อมกับประกาศผลประเมินหุ้นยั่งยืน SET ESG Ratings ปี 2566 ในวันที่ 6 พฤศจิกายน 2566

โดย SET ESG Ratings คือ ผลการประเมินหุ้นยั่งยืนของบริษัทจดทะเบียนที่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย จัดทำขึ้น โดยประเมินจากข้อมูลผลการดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อม,สังคม และบรรษัทภิบาล (Environmental, Social and Governance หรือ ESG) ของบริษัทจดทะเบียน

สำหรับ SET ESG Ratings แบ่งเป็น 4 ระดับ คือ BBB, A, AA และ AAA ตามผลคะแนนรวมจากการประเมิน ดังนี้

90-100 คะแนน ได้รับ SET ESG Ratings ระดับ ‘AAA’

80-89 คะแนน ได้รับ SET ESG Ratings ระดับ ‘AA’

65-79 คะแนน ได้รับ SET ESG Ratings ระดับ ‘A’

50-64 คะแนน ได้รับ SET ESG Ratings ระดับ ‘BBB’

โดยกระบวนการคัดเลือกและหลักเกณฑ์ต่างๆ ของการประเมิน SET ESG Ratings ยังคงใช้หลักการเดียวกันกับการประเมินหุ้นยั่งยืน THSI ทุกประการและจะพิจารณาข้อมูล ESG ของบริษัทจดทะเบียนที่สมัครใจเข้าร่วมตอบแบบประเมินความยั่งยืน

ซึ่งบริษัทที่จะได้รับการประกาศผลประเมินหุ้นยั่งยืน SET ESG Ratings ต้องผ่านเกณฑ์ 2 ด้าน ได้แก่

1) เกณฑ์คะแนนจำกกำรประเมินความยั่งยืน.

บริษัทต้องมีคะแนนจากการตอบแบบประเมินตั้งแต่ 50% ของคะแนนเต็มในแต่ละมิติเศรษฐกิจและบรรษัทภิบาล , สิ่งแวดล้อม และสังคม

โดยมีการถ่วงหนักของคะแนนตามประเด็นที่เป็นสาระสำคัญตามกลุ่มอุตสาหกรรม (Industry weightings) ในแต่ละมิติ เช่น กลุ่มอุตสาหกรรมที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจะถูกคำนวณน้ำหนักเพิ่มขึ้นในหมวดที่เกี่ยวข้องกับมิติสิ่งแวดล้อม

2) เกณฑ์ด้านคุณสมบัติ

บริษัทจะต้องผ่านคุณสมบัติอื่นๆ เช่น ผลการประเมินคุณภาพการรายงานด้านบรรษัทภิบาล (Corporate Governance Reporting หรือ CGR) ผลประกอบการด้านกำไรสุทธิและส่วนของผู้ถือหุ้น ผลการกำกับดูแลในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับคุณสมบัติของบริษัทจดทะเบียน การไม่ถูกลงโทษในประเด็นด้าน ESG การเป็นหลักทรัพย์ที่ไม่ถูกขึ้นเครื่องหมาย C เป็นต้น

ตลาดหลักทรัพย์ฯ จะติดตามบริษัทจดทะเบียนที่ได้รับการประกาศผลประเมินหุ้นยั่งยืน SET ESG Ratings ตลอดกระบวนการ หากบริษัทจดทะเบียนมีคุณสมบัติไม่เป็นไปตามเกณฑ์ด้านคุณสมบัติ ตลาดหลักทรัพย์ฯ จะคัดชื่อบริษัทออกจากผลประเมินหุ้นยั่งยืน SET ESG Ratings

ตลาดหลักทรัพย์ฯ มีคณะทำงานเพื่อการลงทุนอย่างยั่งยืนที่ประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิด้านบรรษัทภิบาลและการพัฒนาอย่างยั่งยืนเป็นผู้พิจารณาหลักเกณฑ์การประเมินหุ้นยั่งยืนและกระบวนการคัดเลือกให้มีความโปร่งใส ตลอดจนพิจารณาผลประเมินหุ้นยั่งยืน SET ESG Ratings

ทั้งนี้ ความแตกต่างระหว่าง SET ESG Ratings และ Credit Ratings นั้นสำหรับ SET ESG Ratings เป็นการประเมินผลการดำเนินงานด้าน ESG เท่านั้น และนำมาจัดระดับ Rating ตามคะแนนรวมของบริษัท ไม่ใช่การจัดอันดับความน่าเชื่อถือของหุ้น ผู้ลงทุนที่ต้องการใช้งาน SET ESG Ratings ยังต้องพิจารณาข้อมูลด้านการเงินและข้อมูลอื่นๆ ประกอบการตัดสินใจลงทุนด้วยทุกครั้ง

ส่วน Credit Ratings คือ การจัดอันดับความน่าเชื่อถือ มีอยู่ 2 แบบหลัก คือ

1) การจัดอันดับความน่าเชื่อถือขององค์กรทั้งภาครัฐและภาคเอกชน เพื่อสะท้อนความแข็งแกร่งขององค์กรโดยดูจากฐานะการเงินและ ความเสี่ยงของธุรกิจร่วมกับปัจจัยทางเศรษฐกิจต่างๆ

2) การจัดอันดับความน่าเชื่อถือของตราสารหนี้เพื่อสะท้อนความสามารถในการชำระหนี้ของผู้ออกตราสารหนี้

นอกจากนี้ตลาดหลักทรัพย์ฯ จะนำรายชื่อบริษัทที่มีผลประเมินหุ้นยั่งยืน SET ESG Ratings มาใช้ในการจัดทำ SETESG Index โดยตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้เปลี่ยนชื่อ ‘SETTHSI Index’ เป็น ‘SETESG Index’ ตามการเปลี่ยนแปลงจาก ‘THSI’ เป็น ‘SET ESG ratings’

.โดยในการจัดทำดัชนีความยั่งยืน SETESG Index ยังคงใช้หลักการหรือเกณฑ์เดียวกับ SETTHSI Index ในรูปแบบเดิม

สำหรับแนวโน้มการลงทุน พบว่าหุ้นยั่งยืนเป็นที่นิยมของนักลงทุนในทุก Generations โดยยิ่งอายุมากขึ้นยิ่งมีแนวโน้มที่จะสนใจและกระจายมูลค่าซื้อขายในหุ้นยั่งยืนมากขึ้น

โดยข้อมูลในปี 2565 นักลงทุนบุคคลกว่า 7 แสนคน (79% ของกลุ่มตัวอย่าง) มีการซื้อขายหุ้นยั่งยืนอย่างน้อย 1 บริษัท และมูลค่าซื้อขายเฉลี่ยสูงถึงวันละ 14,245 ล้านบาท หรือคิดเป็น 40% ของมูลค่ซื้อขายของนักลงทุนบุคคลทั้งหมด

รวมถึงนักลงทุนสถาบันทั่วโลกมีการลงทุนด้านความยั่งยืนมากขึ้นในกองทุนที่มีหลักการลงทุนที่มีความรับผิดชอบภายใต้ Principles for Responsible Investment (PRI) จากปี 2555 ที่ 30 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้นมาถึง 4 เท่า เป็น 120 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2565

#ESG

#ความยั่งยืน

#ตลาดหลักทรัพย์