ผถห.TPCH อนุมัติขายหุ้นบ.ย่อยกลุ่มโรงไฟฟ้า มูลค่าไม่น้อยกว่า 1,200 ลบ.



ผถห.TPCH อนุมัติขายหุ้นบ.ย่อยกลุ่มโรงไฟฟ้า มูลค่าไม่น้อยกว่า 1,200 ลบ.

นำเงินลงทุนรุกขยายโรงไฟฟ้าทั้งใน-ต่างประเทศ หนุนรายได้เพิ่ม

ปักธงปี 69 มีขนาดกำลังการผลิตแตะ 500 MW

 

ผู้ถือหุ้นบมจ.ทีพีซี เพาเวอร์ โฮลดิ้ง (TPCH) มีมติอนุมัติขายหุ้นบริษัทย่อย ในกลุ่มบริษัทโรงไฟฟ้าขนาดไม่เกิน 10 เมกะวัตต์ ในราคาไม่น้อยกว่า 1,200 ล้านบาท ฟากแม่ทัพหญิง “กนกทิพย์ จันทร์พลังศรี” ระบุ เตรียมนำเงินที่ได้เข้าลงทุนในโครงการโรงไฟฟ้าทั้งในประเทศและต่างประเทศ รวมถึงเปิดโอกาสเข้าลงทุนในกิจการอื่นๆ ตามนโยบายการลงทุน เพื่อให้บรรลุเป้าหมายภายในปี 69 มีขนาดกำลังการผลิตไฟฟ้ารวมแตะระดับ 500 เมกะวัตต์ หนุนรายได้เพิ่ม และสร้างผลตอบแทนที่ดีให้กับผู้ถือหุ้นในอนาคตอย่างยั่งยืน 

 

นางกนกทิพย์ จันทร์พลังศรี ประธานคณะกรรมการบริหาร บริษัท ทีพีซี เพาเวอร์ โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ TPCH ประกอบธุรกิจหลักโดยการถือหุ้นในบริษัทอื่น (Holding Company) ที่ประกอบธุรกิจผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน เปิดเผยว่า ที่ประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้น ครั้งที่ 1/2566 ในวันที่ 27 ตุลาคม 2566 ที่ผ่านมา มีมติอนุมัติให้จําหน่ายหุ้นทั้งจำนวนที่บริษัทฯ ถืออยู่ในบริษัทต่อไปนี้ หรือ กลุ่มบริษัทโรงไฟฟ้า ประกอบด้วย 1.บริษัท ทีพีซีเอช เพาเวอร์ 1 จํากัด (TPCH 1) จำนวน 25,799,996 หุ้น คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 99.23 ของทุนจดทะเบียนของ TPCH 12.บริษัท ทีพีซีเอช เพาเวอร์ 2 จํากัด (TPCH 2) จำนวน 25,799,996 หุ้น คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 99.23 ของทุนจดทะเบียนของ TPCH 2, 3.บริษัท ทีพีซีเอช เพาเวอร์ 5 จํากัด (TPCH 5) จำนวน 19,799,996 หุ้น คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 99.00 ของทุนจดทะเบียนของ TPCH 5 และ 4. บริษัท อีโค เอ็นเนอร์ยี กรุ๊ป คอร์ปอเรชั่น จํากัด (ECO) จำนวน 63,375,434 หุ้น คิดเป็นสัดส่วน ร้อยละ 99.90 ของจำนวนทุนจดทะเบียนของ ECO ในราคาไม่น้อยกว่า 1,200,000,000 บาท ให้กับนักลงทุนที่สนใจลงทุนในกิจการโรงไฟฟ้า โดยราคาเสนอขายดังกล่าวรวมถึงหนี้เงินกู้ยืมที่บริษัทย่อยมีอยู่กับบริษัท นอกจากนี้ ในการเสนอขายหุ้นบริษัทฯ จะกำหนดข้อตกลงให้นักลงทุนที่สนใจจะต้องรับไปซึ่งหนี้สินทั้งหมดอื่นๆ ของกลุ่มบริษัทโรงไฟฟ้าแต่ไม่จํากัดเฉพาะหนี้เงินกู้ยืมสถาบันการเงิน

สำหรับผลประโยชน์ที่คาดว่าบริษัทฯ จะได้รับ และแผนการใช้เงินที่ได้รับจากการจำหน่ายหุ้น เพื่อไปใช้ลงทุนในกิจการโรงไฟฟ้าอื่น ๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ รวมถึงโอกาสในการเข้าลงทุนในกิจการอื่น ๆ ตามนโยบายการลงทุนของบริษัทฯ ซึ่งสามารถสนับสนุนธุรกิจหลักของบริษัทฯ หรือธุรกิจที่บริษัทฯ มีความเชี่ยวชาญ และเป็นธุรกิจที่จะสร้างกำไรได้อย่างต่อเนื่อง สามารถจะได้รับผลตอบแทนจากการลงทุนที่ดีให้แก่ผู้ถือหุ้นในระยะยาวในอนาคต และการขายหุ้นของกลุ่มบริษัทโรงไฟฟ้าดังกล่าวจะไม่ส่งผลกระทบใดๆ ต่อการประกอบกิจการของบริษัทหรือฐานะการเงินของบริษัท โดยบริษัทยังคงถือหุ้นในบริษัทย่อยอื่นที่ประกอบกิจการ โรงไฟฟ้าจำนวน 8 บริษัท  ซึ่งยังคงประกอบกิจการโรงไฟฟ้าได้ตามปกติ

“บริษัทฯ ขอขอบคุณผู้ถือหุ้นทุกท่าน ที่ให้ความเชื่อมั่นกับทีมผู้บริหารในการดำเนินธุรกิจ เรามีความตั้งใจที่จะบริหารงานให้ตรงตามแผน และสร้างผลตอบแทนที่ดีให้กับผู้ถือหุ้น และสร้างความมั่นคงให้กับ TPCH ได้อย่างยั่งยืน” นางกนกทิพย์ กล่าว

นายเชิดศักดิ์ วัฒนวิจิตรกุล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ทีพีซี เพาเวอร์ โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ TPCH กล่าวว่า บริษัทฯ ตั้งเป้าหมายมีกำลังการผลิตรวม 500 เมกะวัตต์ ภายในปี 2569 แบ่งเป็น โรงไฟฟ้าประเภทเชื้อเพลิงชีวมวล 90 เมกะวัตต์ โรงไฟฟ้าประเภทเชื้อเพลิงขยะ 70 เมกะวัตต์ และโครงการผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลมในต่างประเทศ 340 เมกะวัตต์

ในส่วนของแผนการลงทุนในธุรกิจพลังงานทดแทนในประเทศ จะเป็นการพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าประเภทเชื้อเพลิงขยะ ประมาณ 7 โครงการ ภายใต้บริษัท สยาม พาวเวอร์ จำกัด ซึ่งเป็นโครงการรูปแบบ VSPP (Very Small Power Producer) เพื่อเข้าร่วมโครงการรับซื้อไฟฟ้าของภาครัฐ คาดว่าจะเห็นความชัดเจนเกี่ยวกับสัญญาซื้อขายไฟฟ้าภายในปีนี้ ประมาณ 1 โครงการ

ขณะที่ แผนการลงทุนในต่างประเทศ บริษัทฯ กำลังศึกษาโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนประเภท พลังงานแสงอาทิตย์ และพลังงานลม ทั้งในสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) เนื่องจาก TPCH ได้เข้าร่วมลงทุนกับ บริษัท แม่โขง พาวเวอร์ จํากัด (MKP) ในสัดส่วนร้อยละ 40 ที่ประกอบธุรกิจผลิต และจําหน่ายกระแสไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ใน สปป.ลาว และ MKP ได้ลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้าจำนวน 100 เมกะวัตต์ กับรัฐวิสาหกิจไฟฟ้าลาว (EDL) เรียบร้อยแล้ว โดยมีระยะเวลา 25 ปีนับจากวันที่เปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ (Commercial Operation Date : COD) และได้เซ็นสัญญากับผู้รับเหมาก่อสร้างเรียบร้อยแล้ว คาดว่า จะเริ่มก่อสร้างโรงไฟฟ้าได้ภายในไตรมาส 4 ของปีนี้ และคาดว่า จะสามารถ COD เฟสแรกได้ภายใน 2567 รวมทั้ง มีแผนที่จะส่งไฟฟ้าจาก สปป.ลาว ไปจำหน่ายในประเทศเวียดนามอีกด้วย

สำหรับการลงทุนในประเทศกัมพูชา ปัจจุบันอยู่ระหว่างการขอใบอนุญาต ทั้งโครงการพลังงานแสงอาทิตย์ และพลังงานลม โดยตั้งเป้ากำลังการผลิตรวมทั้ง 2 ประเภท ประมาณ 200-300 เมกะวัตต์