ไอแบงก์ สานสัมพันธ์ ถิ่นอีสาน ลงพื้นที่เยี่ยมลูกค้า

ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย (ไอแบงก์) ลงพื้นที่เยี่ยมลูกค้ารายสำคัญในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พร้อมจัดงานเลี้ยง “สานสัมพันธ์ครบรอบ 20 ปี ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย” หรือ “ไอแบงก์ สานสัมพันธ์ ถิ่นอีสาน” รับรองอาหารค่ำด้วยเมนูฮาลาล สไตล์อิตาเลียนสุดพิเศษด้วยเชฟมากประสบการณ์ด้านฮาลาล เพื่อเป็นการขอบคุณลูกค้ารายใหญ่ผู้มีอุปการะคุณที่มอบความไว้วางใจธนาคาร เมื่อวันที่ 27 กันยายน 2566 ณ โรงแรมแอดลิบ ขอนแก่น

ดร.ทวีลาภ ฤทธาภิรมย์ กรรมการและผู้จัดการธนาคาร เปิดเผยว่า “ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ หรือ ‘ภาคอีสาน’ เป็นภูมิภาคที่มีพื้นที่ใหญ่ที่สุด คิดเป็นประมาณ 1 ใน 3 ของพื้นที่ประเทศไทย และเป็นภูมิภาคที่มีจำนวนประชากรมากที่สุดของประเทศ จำนวน 22 ล้านคน คิดเป็นเกือบ 1 ใน 3 ของจำนวนประชากรไทย ทำให้ภาคอีสานมีความสำคัญต่อประเทศไทยเป็นอย่างมาก

ในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา เศรษฐกิจของภาคอีสานมีการขยายตัวในระดับที่สูงเมื่อเทียบกับภูมิภาคอื่นๆ ทำให้สัดส่วนของผู้มีรายได้น้อยในภาคอีสานลดลงอย่างรวดเร็ว และยังทำให้โครงสร้างทางเศรษฐกิจของภาคอีสานเริ่มเปลี่ยนไป จากการทำการเกษตร ทำไร่      ทำนา เปลี่ยนมาเป็นเศรษฐกิจนอกภาคการเกษตรมากขึ้น โดยความมั่งคั่งของคนในภาคอีสานส่วนใหญ่จะอยู่ใน 4 จังหวัด ที่ถูกเรียกว่า ‘Big Four of Isan’ ซึ่งประกอบด้วย นครราชสีมา ขอนแก่น อุบลราชธานี และอุดรธานี

จากข้อได้เปรียบของภาคอีสาน ทั้งเรื่องของจำนวนแรงงานที่มากกว่าภูมิภาคอื่นๆ อีกทั้งยังมีพื้นที่ติดกับประเทศเพื่อนบ้านอย่างลาวและกัมพูชาที่เหมาะกับการเป็นภูมิภาคแห่งการค้าและการลงทุนตามแนวชายแดน อีกทั้งมีการขยายตัวของเศรษฐกิจโดยรวมที่เพิ่มสูงขึ้น ธนาคารจึงให้ความสำคัญกับภูมิภาคนี้ จากการมีฐานของวัตถุดิบทางการเกษตร การยกระดับอุตสาหกรรมการเกษตรและอาหาร รวมทั้งอุตสาหกรรมบริการ จากการมีเครือข่ายรถไฟความเร็วสูง หรือนโยบายมหภาคในอนาคต และเลือกลงพื้นที่เพื่อเยี่ยมลูกค้าที่จังหวัดขอนแก่น เพื่อรับฟังความต้องการ ข้อเสนอแนะ และร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับลูกค้า เพื่อนำไปพัฒนาและปรับปรุงบริการต่างๆ ของธนาคาร ให้ตอบสนองต่อความต้องการของลูกค้ามากที่สุด


การพบปะนักธุรกิจรายสำคัญในครั้งนี้ ถือเป็นโอกาสที่ได้ทำความรู้จักกับนักธุรกิจรายสำคัญ ทั้งที่เป็นลูกค้าของธนาคาร และเป็นลูกค้าที่ประสบความสำเร็จในพื้นที่ ซึ่งทุกรายมีบทบาทต่อการพัฒนาเศรษฐกิจไทยในภาคอีสาน อาทิ บริษัท นอร์ทอีส รับเบอร์ จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตยางพาราเพื่อการส่งออกรายใหญ่ ที่ใช้วัตถุดิบหลักและมุ่งเน้นการจ้างงานในท้องถิ่นอีสาน มีนโยบายและการบริหารจัดการที่คำนึงถึงความยั่งยืนของสังคมชุมชนและสิ่งแวดล้อม บริษัท ซิลเวอร์ ฟาร์ม เซ็นเตอร์ จำกัด ธุรกิจส่งออกเนื้อไก่แปรรูป   ฮาลาลที่มีการบริหารจัดการโรงงานและผลิตภัณฑ์เป็นไปตามมาตรฐานฮาลาลทั้งในประเทศไทยและประเทศมาเลเซีย อีสาน พิมานกรุ๊ป ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่ที่อยู่คู่กับขอนแก่นยาวนานกว่า 40 ปี บริษัท รุ่งฤทัย ทาปิโอก้า จำกัด ผู้ค้าและนำเข้าส่งออกสินค้าเกษตร ลำดับต้นๆ ของประเทศ บริษัท 3ที พร๊อพเพอร์ตี้ จำกัด เป็นอีกหนึ่งธุรกิจด้านอสังหาริมทรัพย์ภายใต้แบรนด์คุณภาพ T Space นอกจากนี้ยังได้มีโอกาสต้อนรับ กลุ่มเจียงกรุ๊ป     นักธุรกิจที่มีชื่อเสียงในภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน    และ พันธ์ทวีมอลล์             ห้างจำหน่ายอุปกรณ์สินค้าเกษตรครบวงจรมีสาขาครอบคลุมทุกจังหวัดในภาคอีสาน


นักธุรกิจที่มาร่วมงานและรับประทานอาหารค่ำทุกราย ต่างเป็นนักธุรกิจที่มีศักยภาพในการเสริมสร้างและพัฒนาเศรษฐกิจให้พื้นที่ภาคอีสานและประเทศ ซึ่งได้ร่วมพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับการพัฒนาและการเติบโตของภาคอีสานซึ่งมีพื้นฐานจากภาคเกษตร โดยจะใช้ข้อได้เปรียบที่มีอยู่สร้างเป็นประโยชน์และยกระดับสู่ความเข้มแข็งให้กับประชากรอย่างยั่งยืน ซึ่งไอแบงก์ขอมีส่วนในการสนับสนุนธุรกิจของพี่น้องชาวอีสานและพร้อมอยู่เคียงข้างในทุกสภาพเศรษฐกิจ โดยสาขาไอแบงก์เปิดให้บริการในจังหวัดหลักๆ ของภาคอีสาน ซึ่งข้อได้เปรียบของไอแบงก์ก็คือการเป็นสถาบันการเงินเพียงแห่งเดียวที่ดำเนินการถูกต้องตามหลักศาสนาอิสลาม ที่ใช้ทั้งหลักชะรีอะฮ์และหลัก ESG บริหารจัดการควบคู่อย่างลงตัว และมีพันธมิตรที่สามารถให้คำปรึกษาด้านธุรกิจฮาลาลครบวงจรตั้งแต่ระดับพื้นฐานจนถึงตอยยิบัน สำหรับงานเลี้ยงรับรองในครั้งนี้ ธนาคารได้เลือกโรงแรมแอดลิบ ขอนแก่น ซึ่งเป็นโรงแรมชื่อดังใจกลางเมืองขอนแก่นที่มีสถาปัตยกรรมทันสมัยและเป็นโรงแรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมแห่งแรกในภูมิภาค ที่มีการใช้พลังงานแสงอาทิตย์ รวมถึงการใช้วัสดุหมุนเวียนและรีไซเคิล สำหรับการจัดเลี้ยงอาหารมื้อค่ำในวันนี้ ธนาคารตั้งใจจัดอาหารฮาลาลสุดพิเศษสไตล์ อิตาเลียน โดยมีเชฟชาวมาเลเซียมากด้วยประสบการณ์สร้างครัวฮาลาลในฐานะประธานกรรมการฮาลาลให้แก่โรงแรมระดับห้าดาวในประเทศสิงคโปร์หลายแห่งเป็นผู้รังสรรค์เมนูฮาลาลดังกล่าว ทั้งนี้เพื่อที่จะสะท้อนศักยภาพการแข่งขันในอุตสาหกรรมฮาลาล และสอดคล้องกับธีมฮาลาลสู่ความยั่งยืนซึ่งไอแบงก์พร้อมร่วมให้การสนับสนุนธุรกิจฮาลาลให้นักธุรกิจไทยทั่วทุกภูมิภาค” ดร.ทวีลาภ กล่าวทิ้งท้าย