คลังเผยนโยบายตลาดทุนไทยแข่งขันได้ต้องมีต้นทุนการระดมทุนที่ต่ำ สภาพคล่องสูง โตในระดับภูมิภาค 9 เดือนแรกเก็บรายได้เกินเป้ากว่า 1.5 แสนล้านบาท
นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า กระทรวงการคลังขอยืนยันว่ายังไม่มีนโยบายเก็บภาษีหุ้นทั้งภาษีที่เรียกเก็บกับธุรกรรม (Financial Transaction Tax: FTT) และภาษีที่เรียกเก็บจากกำไร (Capital Gain Tax) กระทรวงการคลังขอยืนยันเพื่อให้เกิดความมั่นใจต่อตลาดทุน ประชาชน นักลงทุน และบริษัทจดทะเบียน ว่ายังไม่มีนโยบายในการพิจารณาเก็บภาษีขายหุ้นท้้งFTT และกำไรจากการขายหุ้น หากไม่เก็บภาษี FTT แล้ว จะทำให้รายได้ภาครัฐหายไปและต้องมีการขาดดุลงบประมาณเพิ่มเติมเพื่อมาชดเชย โดยข้อชี้แจงว่าในแผนการคลังระยะปานกลางยังไม่ได้รวมผลกระทบของนโยบาย Digital Wallet ซึ่งหากรวมนโยบายนี้จะมีเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจอีก 560,000 ล้านบาท ด้วยกลไกลในการทำนโยบายนี้จะต้องมีรายได้กลับคืนรัฐบาลในรูปแบบภาษีทั้งภาษีนิติบุคคลและภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT)รวมกันกว่า 1 แสนล้านบาทอย่างไรก็ตามต้องรอสรุปเงื่อนไขของโครงการDigital Wallet เนื่องจากเงื่อนไขของโครงการ Digital Wallet มีผลมากน้อยต่อการหมุนของเงินในระบบเศรษฐกิจไทย
นายเผ่าภูมิ กล่าวเพิ่มเติมว่า ภาพของตลาดหลักทรัพย์ไทยที่กระทรวงการคลังอยากเห็นคือ
- ตลาดหลักทรัพย์ไทยที่มีสภาพคล่องสูง ไม่ซบเซา และมีเสถียรภาพ
- ต้องการตลาดหลักทรัพย์ที่มีปริมาณการซื้อขายทั้งด้านปริมาณและคุณภาพ
- ต้องการเห็นตลาดหลักทรัพย์ไทยที่แข่งขันได้ในภูมิภาค
- ต้องการเห็นตลาดหลักทรัพย์ไทยที่มีต้นทุนในการระดมทุนต่ำจะดึงดูดบริษัทที่จะมาจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์
ตลาดหลักทรัพย์ต้องมีความน่าสนใจและมีความสามารถในการแข่งขัน มีกฎระเบียบที่ผ่อนปรนและเอื้อต่อการลงทุน ก็ดึงดูดให้บริษัทที่เข้ามาจดทะเบียนที่มีต้นทุนในระดับต่ำที่แข่งขันได้ เรามี นโยบายที่จะให้ตลาดหลักทรัพย์ไทยโตและเป็นตัวแทนของภูมิภาค จำเป็นที่ต้องมีนโยบายที่เหมาะสม
ด้าน นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลังเปิดเผยว่า ตัวเลขสำคัญบางประการของวงเงินปีงบประมาณ 2567 ในแผนการคลังระยะปานกลาง(ปีงบประมาณ 2567 – 2570) ฉบับทบทวน (MTFF 2567 – 2570) นั้น
โฆษกกระทรวงการคลังขอเรียนชี้แจงข้อเท็จจริง ดังนี้
- ยืนยันตัวเลขประมาณการรายได้รัฐบาลสุทธิ งบประมาณรายจ่าย และขาดดุลการคลังของปีงบประมาณ 2567 ภายใต้ MTFF 2567 – 2570 ฉบับทบทวน เท่ากับ 2,787,000 ล้านบาท3,480,000 ล้านบาท และ 693,000 ล้านบาท ตามที่คณะรัฐมนตรีได้ให้ความเห็นชอบเมื่อวันที่ 13 กันยายน 2566
- สำนักงบประมาณนำตัวเลขงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2567 ตาม MTFF 2567 – 2570 ฉบับทบทวน มาดำเนินการตามขั้นตอนของการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้ให้ความเห็นชอบเมื่อวันที่ 18 กันยายน 2566 และกระทรวงการคลังได้วางแผนการบริหารจัดเก็บรายได้ของรัฐบาลเพื่อให้การจัดเก็บรายได้เป็นไปตามที่ประมาณการไว้โดยให้ความสำคัญกับการเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บรายได้เป็นหลัก เนื่องจากที่ผ่านมาหน่วยงานจัดเก็บรายได้ในสังกัดกระทรวงการคลังได้มีการพัฒนาระบบต่าง ๆ ขึ้นมาเพื่อเพิ่มศักยภาพในการจัดเก็บรายได้อย่างต่อเนื่อง มีการใช้เทคโนโลยีในการติดตามและตรวจสอบการจัดเก็บภาษีเพื่อขยายฐานภาษี ทำให้การวางแผนการจัดเก็บเป้ารายได้ของปีงบประมาณ 2567 สามารถเป็นไปตามประมาณการที่ตั้งไว้
ขณะที่มาตรการต่าง ๆ ของรัฐบาลในปีงบประมาณ 2567 ก็จะช่วยสนับสนุนให้เกิดการหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจและส่งเสริมให้เศรษฐกิจมีการเติบโต โดยภาครัฐสามารถจัดเก็บรายได้ได้ตามการขยายตัวของเศรษฐกิจที่มากขึ้นด้วย จึงยังไม่มีการนำนโยบายภาษีเข้ามาเกี่ยวข้องในทางปฏิบัติ
กระทรวงการคลังยืนยันว่าตัวเลขในการทำงบประมาณประจำปีไม่ได้เปลี่ยนแปลงทั้งการจัดเก็บรายได้รายจ่าย และการขาดดุล โดยมาตรการเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บภาษีจะมีส่วนเพิ่มการจัดเก็บรายได้ปี67 ให้เป็นไปตามเป้าหมายโดยที่ยังไม่ต้องนำนโยบายเรื่องภาษีมาปฏิบัติแต่อย่างใด แม้ในแผนการจัดเก็บรายได้จะมีการรวมรายได้จากการจัดเก็บภาษี FTT จำนวน 1.4 หมื่นล้านบาท อย่างไรก็ตามมาตรา 16 ของพ.ร.บ. วินัยการเงินการคลังระบุว่าให้หน่วยงานของรัฐสามารถนำแผนการคลังระยะปานกลางมาใช้ประกอบการพิจารณาจัดเก็บรายได้โดยหากมีมาตรการอื่นที่จัดเก็บรายได้สามารถใช้วิธีอื่นได้ โดยตอนนี้ต้องดูแลเรื่องตลาดทุนจึงใช้วิธีเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บรายได้และใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อให้การจัดเก็บรายได้ให้เป็นไปตามเป้าตอนนี้เราเก็บรายได้เกินเป้ามากกว่า 1.5 แสนล้านบาท