อีอีซี ผนึกภาคีภาครัฐ-เอกชน หนุนใช้รถยนต์ไฟฟ้าขนส่งสาธารณะรับส่งพนักงานในพื้นที่

อีอีซี ผนึกภาคีภาครัฐ-เอกชน หนุนใช้รถยนต์ไฟฟ้าขนส่งสาธารณะรับส่งพนักงานในพื้นที่พร้อมร่วมพัฒนาระบบนิเวศการลงทุน นำร่องปี 66 รถโดยสารไฟฟ้า 100 คัน คาดใน 5 ปี เพิ่มเป็น6,000 คัน จูงใจดึงลงทุนคลัสเตอร์ EV และ BCG สร้างการพัฒนาที่เป็นมิตรสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน

นายจุฬา สุขมานพ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) หรืออีอีซีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการสนับสนุนการใช้รถยนต์ไฟฟ้าในระบบขนส่งสาธารณะและรถรับ-ส่งพนักงานในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ร่วมกับ นายกิติพงค์พร้อมวงค์ ผู้อำนวยการสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ ศาสตราจารย์ชูกิจ ลิมปิจำนงค์ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ศาสตราจารย์

นพ.พงษ์รักษ์ศรีบัณฑิตมงคล อธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่  นายรักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย นายวีระเดช เตชะไพบูลย์ นายกสมาคมพลังงานหมุนเวียนไทย (อาร์อี 100) และนายสุวิทย์ ธรณินทร์พานิชประธานกรรมการมูลนิธิพลังงานสะอาดเพื่อประชาชน เพื่อส่งเสริมให้เกิดความร่วมมือภาครัฐและเอกชนในด้านการพัฒนาเทคโนโลยีถ่ายทอดองค์ความรู้ ขับเคลื่อนการลงทุนและใช้ประโยชน์จากรถยนต์ไฟฟ้าในระบบขนส่งสาธารณะและรับส่งพนักงาน เพื่อนำไปสู่การพัฒนาพื้นที่อีอีซีอย่างยั่งยืน

นายจุฬา สุขมานพ เลขาธิการ อีอีซี กล่าวว่า การลงนามฯ ครั้งนี้ ถือเป็นความร่วมมือสำคัญจากภาคีเครือข่ายภาครัฐและเอกชน เพื่อสนับสนุนการลงทุนในเศรษฐกิจ BCG ผลักดันให้เกิดการพัฒนาระบบนิเวศอุตสาหกรรม ดึงดูดการลงทุนนวัตกรรมใหม่โดยเฉพาะในคลัสเตอร์อุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ในพื้นที่อีอีซี ซึ่งได้ตั้งเป้าหมายให้เป็นฐานการผลิต EV แห่งภูมิภาค โดยภายใต้กรอบข้อตกลงดังกล่าว จะส่งเสริมการใช้รถยนต์ไฟฟ้าขนส่งสาธารณะและการรับ-ส่งพนักงานให้แพร่หลาย ประชาชนในพื้นที่ อีอีซี สามารถเข้าถึงบริการดังกล่าวได้อย่างสะดวก รวดเร็ว และปลอดภัย ผลักดันให้เกิดการผลิต และการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานสะอาด สอดคล้องกับเป้าหมายพัฒนาพื้นที่อีอีซีในภาพรวมให้เป็นพื้นที่ Net Zero Carbon Emission โดยการลงทุนใหม่ในพื้นที่ต้องมีการนำแนวคิดเศรษฐกิจสีเขียวมาสนับสนุนการผลิต สร้างการพัฒนาที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ส่งเสริมให้เกิดการลงทุนเพื่อความยั่งยืน



ทั้งนี้ อีอีซี จะเชื่อมโยงความร่วมมือและพัฒนากลไกการลงทุนรถยนต์ไฟฟ้าอย่างเป็นระบบ โดยทุกฝ่ายจะร่วมกันสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยี การถ่ายทอดองค์ความรู้  การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานรองรับการติดตั้งสถานีชาร์จไฟฟ้าเพื่อรองรับ รวมไปถึงขยายผลสร้างมูลค่าเพิ่มโครงการฯ โดยอีอีซี จะร่วมขับเคลื่อนพัฒนาระบบนิเวศจูงใจให้เกิดการลงทุน เช่น เรื่องสิทธิประโยชน์รูปแบบภาษีและไม่ใช่ภาษี การอำนวยความสะดวกเพิ่มความรวดเร็วในการอนุมัติ อนุญาตที่อีอีซีสามารถออกใบอนุญาตแทนหน่วยงานต่างๆ ได้ถึง 44 ใบอนุญาต คาดว่าจะเริ่มได้

ในมกราคม ปี 2567 ซึ่งจากความร่วมมือครั้งนี้ เป็นกิจกรรมสำคัญในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมเป้าหมายสำหรับคลัสเตอร์ EV และคลัสเตอร์ BCG (ในกลุ่มพลังงานสะอาด)

นายกิติพงค์ พร้อมวงค์ ผู้อำนวยการสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) กล่าวว่า สอวชในฐานะหน่วยงานด้านนโยบาย อววน. (การอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมสนับสนุนการพัฒนาและยกระดับความสามารถทางเทคโนโลยีและนวัตกรรมของประเทศ จะดำเนินการภายใต้ข้อตกลงฉบับนี้ เพื่อนำร่องให้เกิดความเชื่อมโยงระหว่างหน่วยงานภาครัฐและเอกชน เร่งให้เกิดการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า ชิ้นส่วนสำคัญให้มีคุณภาพ มาตรฐานความปลอดภัย และสร้างซัพพลายเชนในประเทศให้มีจำนวนมากขึ้น ตลอดจนการถ่ายทอดความรู้และเทคโนโลยี การพัฒนาบุคลากรและผู้เชี่ยวชาญ และเมื่อความร่วมมือในพื้นที่อีอีซีนี้บรรลุเป้าหมายแล้วจะสามารถถอดเป็นบทเรียนเพื่อขยายให้เกิดผลกระทบเชิงบวกในการพัฒนาประเทศ สอดคล้องกับการพัฒนาไปสู่เป้าหมายการผลิตและการใช้งานยานยนต์ไร้มลพิษ และเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของไทย

ศาสตราจารย์ชูกิจ ลิมปิจำนงค์ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ(สวทช.) กล่าวว่า การลงนาม  ครั้งนี้ สวทชจะเป็นหน่วยงานในการสนับสนุน ด้านเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับรถโดยสารพลังงานไฟฟ้า และการใช้งานยานยนต์ไฟฟ้า ให้กับผู้ประกอบการในพื้นที่อีอีซีเพื่อส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาของประเทศ ซึ่ง สวทชได้ดำเนินการวิจัยและพัฒนารถยนต์ไฟฟ้ามาอย่างต่อเนื่อง จากการสั่งสมองค์ความรู้ทางด้านเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับยานยนต์ไฟฟ้า เช่น การออกแบบแบตเตอรี่แพ็ค การออกแบบมอเตอร์ ระบบควบคุมพร้อมระบบขับเคลื่อน เทคโนโลยีการลดน้ำหนักตัวรถที่ยังคงความแข็งแรงของโครงสร้างและความปลอดภัย การวิเคราะห์ Vehicle dynamic การพัฒนาระบบEV Charger การพัฒนาระบบขับขี่อัตโนมัติ รวมถึงการให้บริการวิเคราะห์ทดสอบกับศูนย์ทดสอบผลิดตภัณฑ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ (PTEC) สวทชซึ่งเป็นศูนย์วิเคราะห์ทดสอบและรับรองในระดับสากลเป็นต้น ทั้งนี้ สวทชมีความพร้อมในการสนับสนุนการทดสอบเทคโนโลยีในเชิงพาณิชย์ โดยความร่วมมือในครั้งนี้ จะทำให้เกิดการนำเทคโนโลยีมาใช้จริง และยกระดับระบบขนส่งสาธารณะในพื้นที่อีอีซี รวมถึงส่งเสริมผู้ประกอบในการทดสอบมาตรฐาน ซึ่งเป็นภารกิจสำคัญของ สวทชที่ต้องการสนับสนุนเทคโนโลยีตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำต่อไป

นายรักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการผู้จัดการธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK)กล่าวว่า ธนาคารฯ ได้กำหนดวิสัยทัศน์ปี 2570 ในการสนับสนุนและส่งเสริมนโยบายด้านการค้าและการลงทุน
ระหว่างประเทศ อันส่งผลต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทย โดยตั้งเป้าหมายเป็นผู้นำขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การค้า และการลงทุนของไทยให้เติบโตในเวทีโลกอย่างยั่งยืน ทั้งนี้ ธนาคารฯ ได้เห็นถึงความท้าทายและโอกาสของการลงทุนตามเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งที่ผ่านมา ได้มีผลิตภัณฑ์ทางการเงินสนับสนุนการลงทุนในเศรษฐกิจสีเขียว เช่น EXIM Green Start เพื่อให้สอดคล้องตาม Thailand Taxonomy หรือ Exim Supply Chain Financing Solution เพื่อเสริมสภาพคล่อง SMEs ในเครือข่ายธุรกิจของผู้ประกอบการรายใหญ่ สำหรับความร่วมมือ
ในครั้งนี้ จะสนับสนุนการเข้าถึงการบริการทางการเงินของผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าซึ่งเป็นส่วนสำคัญของการประกอบธุรกิจ โดยธนาคารเห็นถึงโอกาสในการขยายตัวของอุตสาหกรรมดังกล่าวในอนาคต


นายสุวิทย์ ธรณินทร์พานิช ประธานกรรมการมูลนิธิพลังงานสะอาดเพื่อประชาชน กล่าวว่า การลงนามฯครั้งนี้ จะเป็นโครงการนำร่องเพื่อเป็นต้นแบบการใช้รถโดยสารไฟฟ้า สำหรับขนส่งสาธารณะและรับ-ส่งพนักงานสำหรับประชาชน เพื่อสร้างสิ่งแวดล้อมที่ดีในพื้นที่อีอีซี โดยคาดว่าในปี 2566 นี้จะเกิดรถโดยสารไฟฟ้า อย่างน้อย100 คัน พร้อมสถานีชาร์ท ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ประมาณ 5 พันตันต่อปี เกิดการสร้างงานสร้างอาชีพ และพัฒนาวัตถุดิบสินค้าในประเทศ (local content) เพิ่มขึ้นจาก 40% เป็น 60% สร้างเศรษฐกิจหมุนเวียนภายในประเทศมากกว่า 360 ล้านบาท และมีเป้าหมายของโครงการ  ในระยะ 5 ปีจะสามารถเพิ่มรถโดยสารไฟฟ้า 6,000 คัน 

อย่างไรก็ตามในภาพใหญ่ของทั้งประเทศ คาดว่าภายใน 2 ปี หากสามารถปรับเปลี่ยนมาใช้รถโดยสารไฟฟ้าได้ 10,000 คันทั้งประเทศ จะมีมูลค่าการลงทุนมากกว่า 60,000 ล้านบาท เกิดเศรษฐกิจหมุนเวียนภายในประเทศมากกว่า 48,000 ล้านบาท ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงได้ 5 แสนตันต่อปี