SET เติบโตสูงสุดใน ASEAN จากการขยายธุรกิจไปต่างประเทศ กลุ่มเทคโนโลยีอยู่รอดในตลาดผันผวน SETSMART ช่องทางใหม่เช็คธุรกิจไหนใส่ใจความยั่งยืน หุ้นไทยใน DJSI ผลตอบแทนสูงกว่าหุ้น SET100
ดร. ภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กล่าวในโครงการอบรมความรู้เกี่ยวกับตลาดทุนไทยสำหรับสื่อมวลชน ประจำปี 2566 ว่า ความสำคัญของตลาดหุ้นไทยที่มีบทบาทสำคัญในการจัดสรรทรัพยากรทุน ทำให้ผู้ประกอบการมีแหล่งเงินทุนที่หลากหลาย และเป็นกลไกสำคัญที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย เมื่อมองเทียบขนาดของตลาดหุ้นต่อขนาดเศรษฐกิจของประเทศในปัจจุบันที่มีสัดส่วนอยู่ที่ 108% ต่อ GDP มีมูลค่ารวมทั้งหมด 52.45 ล้านล้านบาท ในอดีตเคยขึ้นไปสูงสุดที่ 115% โดยมีมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (Market Capital) อยู่ที่ 18.82 ล้านล้านบาท สูงสุดเมื่อเทียบกับมูลค่าตราสาร อื่นๆในตลาดทุน อย่างเช่น มูลค่าคงค้างตราสารหนี้ภาคเอกชน (4.80 ล้านล้านบาท) มูลค่าคงค้างตราสารหนี้ภาครัฐ (10.47ล้านล้านบาท) สินเชื่อธนาคารพาณิชย์ (18.36 ล้านล้านบาท) ดังนั้น ถือได้ว่าธนาคารพาณิชย์ ตราสารหนี้และตราสารทุนถือเป็น 3 เสาหลักของภาคเศรษฐกิจประเทศไทย
ตลาดทุนไทยเป็นทางเลือกในการระดมทุน (IPO) ในช่วงวิกฤต และเป็นกลไกสำคัญในการยกระดับขีดความสามารถของเศรษฐกิจไทยสู่ระดับภูมิภาคเรื่อยมา และเกิดขึ้นในประเทศไทย 4 ครั้งใหญ่ๆ โดยในครั้งล่าสุดครั้งที่ 4 (2558 - 2566) การขยายกิจการเพิ่มทุนเพื่อไปลงทุนในต่างประเทศและภูมิภาค โดยรวม 2,457 พันล้านบาท แสดงให้เห็นถึงธุรกิจขนาดต่างๆจากหลากหลายอุตสาหกรรมได้เข้าถึงตลาดทุนและระดมทุน IPO เพื่อสนับสนุนการเติบโตของกิจการ โดยแต่ละปีสร้างรายได้เฉลี่ยปีละ 4-5 พันล้านดอลลาร์ นั่นทำให้มูลค่าทางการตลาดเติบโตเป็น 2 - 3 เท่า หรือ 16 - 20 พันล้านดอลลาร์ และโดยเฉลี่ยในรอบ 5 ปี มักจะมีจำนวนบริษัทเข้าจดทะเบียนประมาณ 20 - 24 บริษัท
ใน 5 ปีที่ผ่านมา ตลาดหลักทรัพย์ฯ มีมูลค่าระดมทุน IPO สูงสุดใน ASEAN และอยู่ในอันดับต้นของเอเชียและตลาดโลก ทั้งยังมีสภาพคล่องที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง และในปี 2022 ยังคงมีสภาพคล่องสูงที่สุดใน ASEAN จากข้อมูลทำให้รู้ว่าบริษัทจดทะเบียนในประเทศเราสามารถสร้างรายได้มากถึง 7-8% ต่อปี ส่วนใหญ่ถึง 40% มาจากการขยายธุรกิจไปยังต่างประเทศ และมีสัดส่วนรายได้จากต่างประเทศเพิ่มขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2564 มี 317 บริษัทจดทะเบียนที่เปิดเผยรายได้จากต่างประเทศ รวมสูงถึง 4.38 ล้านล้านบาท นอกจากนี้การเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศไทยในแต่ละปีต้องเช็คว่าในปีนั้นๆเติบโตจากกลุ่มอุตสาหกรรมส่วนไหนบ้าง ในปีล่าสุด 2564 กลุ่มเกษตรและอุตสาหกรรมอาหารมีการเติบโตสัดส่วนรายได้ต่างประเทศสูงถึง 81%
นอกจากนี้ประเทศอินโดนีเซียเองก็ถือว่าเป็นตลาดที่น่าสนใจ ศักยภาพตอนนี้สร้างมูลค่าทางการตลาดได้ 45 - 50% มองว่ายังสามารถเติบโตได้อีกในอนาคต และยังมีสภาพคล่องที่เติบโตอย่างสม่ำเสมออีกด้วย
ทางด้านพัฒนาการตลาดทุนไทยที่ทาง ตลาดหลักทรัพย์ฯ ต้องการส่งเสริมความยั่งยืนและพัฒนาตลาดทุนอย่างต่อเนื่อง โดยยึด 4 เป้าหมายเป็นหลัก (1.) มุ่งมั่นพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เน้นพัฒนาผลิตภัณฑ์ / บริการ และโครงสร้างพื้นฐานอย่างต่อเนื่อง และ ปรับตัวรองรับการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีดิจิทัลในหลากหลายอุตสาหกรรม (2.) เพิ่มทางเลือกในการระดมทุน ที่สนับสนุน SME/Startup เข้าถึงตลาดทุนผ่าน LiVE Platform และ เปิดรับโอกาสใหม่ในแพลตฟอร์มสินทรัพย์ดิจิทัล Thai Digital Assets Exchange : TDX (3.) เพิ่มความหลากหลายในการลงทุน โดยนักลงทุนจะเข้าถึงการลงทุนต่างประเทศด้วยผลิตภัณฑ์การลงทุนใน ตลาดหลักทรัพย์ฯ ที่มี 3 ETFs, 8 DWs และ 18 DRs และ (4.) ยึดหลักความยั่งยืน ที่มุ่งเน้นการเติบโตร่วมกันอย่างยั่งยืนเพื่อสร้างระบบนิเวศอย่างยั่งยืนในตลาดทุนไทยและเป็นสิ่งที่ทาง ตลาดหลักทรัพย์ฯ ให้ความสำคัญเรื่อยมาตั้งแต่ปี 2542 จนถึงปัจจุบัน มีการพัฒนาช่องทางเปิดเผยข้อมูลด้านความยั่งยืนต่อนักลงทุนทั่วไปและผู้เกี่ยวข้องบน SETSMART ที่จะมีข้อมูลจาก 658 บจ. (74%) อนุมัติเผยแพร่ข้อมูลผ่าน ESG Data Platform และ 343 บจ. (39%) เผยแพร่ข้อมูล Greenhouse (GHG) และจะมีข้อมูลเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
โอกาสในตลาดหุ้นไทยเน้น 4 ประเด็นที่น่าติดตามคือ ภาวะเศรษฐกิจโลก, อัตราเงินเฟ้อ นโยบายการเงิน และหนี้ครัวเรือน, นโยบายภาครัฐ และความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์, ความเสี่ยงด้านผลกระทบจากสิ่งแวดล้อม ที่ในตอนนี้ประเทศไทยคลายกังวลในเรื่องความเสี่ยงเกือบทั้งหมดแล้วโดยเฉพาะทางการเมืองและเศรษฐกิจนั่นเอง
ด้านความผันผวนในตลาดทุนโลกและทิศทางการเคลื่อนย้ายเงินทุน(Fundflow) กระทบความเคลื่อนไหวของราคาหุ้นไทย แต่มีเพียงอุตสาหกรรมทางเทคโนโลยีเท่านั้นที่ไม่ได้รับผลกระทบ โดยเป็นเรื่องปกติทีผลตอบแทนจากแต่ละอุตสาหกรรมจะแตกต่างกันไปตามแต่ละช่วงสถานการณ์
ในยุคที่การลงทุนอย่างยั่งยืนกำลังกลายป็นกระแสหลักในการลงทุนในตลาดทุนโลกและตลาดทุนไทย แสดงให้เห็นชัดว่าหุ้นไทยที่อยู่ใน Dow Jones Sustainability Indices (DJSI) มีแนวโน้มสร้างผลตอบแทนได้สูงกว่าหุ้นที่อยู่ใน SET100 ตั้งแต่ปี 2559
ดร.ภากร ยังกล่าวทิ้งท้ายถึง การเติบโตของตลาด mai ที่เป็นตลาดหลักทรัพย์แห่งที่สองของประเทศไทย ที่ถูกมองว่ามูลค่าตลาดที่เติบโตนั้นไม่มีความเปลี่ยนแปลงมากในแต่ละปี อยากให้มองภาพว่าบริษัทที่เติบโตจากตลาด mai นั้น ได้เข้าไปอยู่ในกลุ่มตลาด SET แล้ว นั่นทำให้การเติบโตของ mai นั้นเติบโตอย่างมีขอบเขตนั่นเอง