หลักทรัพย์บัวหลวง ประเมินหุ้นไทยโค้งสุดท้ายปี 66 เคลื่อนตัว "Swing แบบ Sideways" ลุ้นแตะ 1,625 จุด

หลักทรัพย์บัวหลวง ประเมินหุ้นไทยโค้งสุดท้ายปี 66 เคลื่อนตัว "Swing แบบ Sideways" ลุ้นแตะ 1,625 จุด

 

หลักทรัพย์บัวหลวง คาดตลาดหุ้นไทย 4 เดือนสุดท้ายของปี 66 มีโอกาสเคลื่อนไหว
"Swing แบบ Sideways" มองดัชนีกรอบบน 1,625 จุด เชื่อหากจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่เสร็จภายในเดือนก.ย.นี้ หนุนภาพรวมเศรษฐกิจไทยค่อย ๆ ฟื้นตัว แนะเพิ่มน้ำหนักการลงทุนในกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภคภายในประเทศ กลุ่มท่องเที่ยว และกลุ่มธนาคาร   

 

นายชัยพร น้อมพิทักษ์เจริญ กรรมการผู้จัดการ สายงานค้าหลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ บัวหลวง จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ทีมวิจัยหลักทรัพย์บัวหลวง มีมุมมองภาพรวมตลาดหุ้นไทยในช่วง 4 เดือนสุดท้ายของปี 2566 ว่า
อาจอยู่ในลักษณะ "
Swing แบบ Sideways" โดยมองกรอบด้านล่างดัชนีระดับ 1,500 จุด ส่วนกรอบบน 1,625 จุด
ถ้ามองจากระดับดัชนีตอนนี้
Downside ของตลาดมีไม่มากนัก ดังนั้นหากนโยบายของพรรคเพื่อไทยสามารถทำได้จริง
ตลาดหุ้นน่าจะตอบรับในเชิงบวก ส่วนประเด็นม็อบลงถนนในระยะ
1-3 เดือนยังเร็วเกินไปที่จะเกิดขึ้น เพราะส่วนใหญ่ต้องให้เวลารัฐบาลใหม่บริหารบ้านเมือง และมีประเด็นที่ไม่ชอบธรรม ซึ่งมักใช้เวลาประมาณ 12 เดือน

สำหรับปัจจัยภายในประเทศที่น่ากังวลในเชิงการลงทุน คือ เรื่องนโยบายภาครัฐ การบริหารเงิน Digital wallet หัวละหนึ่งหมื่นบาทสำหรับคนไทยอายุ 16 ปีขึ้นไป, ความพยายามแก้ไขกฎหมายให้มีการจัดเก็บกำไรของผู้ที่ลงทุนในตลาดหุ้น, การเก็บภาษีซื้อขายหุ้น (Transaction Tax), การปรับค่าแรงขั้นต่ำ รวมถึงนโยบายด้านพลังงานน้ำมันและไฟฟ้า ซึ่งเรื่องนี้นักลงทุนน่าจับตาดูเป็นพิเศษว่าพรรคเพื่อไทยจะสามารถทำได้ตามที่หาเสียงไว้ก่อนหน้านี้หรือไม่

ส่วนปัจจัยต่างประเทศ คือ เศรษฐกิจจีนที่ได้รับผลกระทบจากการกีดกันการค้าจากรัฐบาลสหรัฐฯ
และสหภาพยุโรป-อียู โดยเฉพาะสินค้าเทคโนโลยี และผลกระทบภายในประเทศจากธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เป็นฟองสบู่
และเริ่มมีปัญหาการชำระหนี้ของผู้ประกอบการใหญ่ภายในประเทศ ปัจจุบันไทยส่งออกสินค้าไปจีนในสัดส่วนประมาณ
12% ของมูลค่าสินค้าส่งออกทั้งหมด หากรวมส่งออกจีนและประเทศที่เกี่ยวข้องกับจีนจะมีสัดส่วนกว่า 17%
ดังนั้นหากเศรษฐกิจจีนหดตัวหรือฟื้นตัวช้ากว่าคาด หรือมีปัจจัยอะไรที่ทำให้เศรษฐกิจและการลงทุน
ในภาคอสังหาริมทรัพย์ของจีนแย่ไปกว่าเดิมจะส่งผลกระทบกับไทยทางอ้อม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องจำนวนนักท่องเที่ยว
การลงทุน หรือการดัมพ์ราคาสินค้าสู่ประเทศอาเซียนหรือตลาดโลก ซึ่งสินค้าบางอย่างจากจีนเป็นคู่แข่งโดยตรงกับผู้ผลิตในไทยทำให้บริษัทไทยค้าขายยากขึ้น เช่น ธุรกิจวัสดุประเภทกระเบื้องห้องน้ำและกระเบื้องปูพื้น
ปูนซีเมนต์ เฟอร์นิเจอร์ ชิ้นส่วนไฟฟ้า อย่างไรก็ดีในฝั่งของสหรัฐฯ และยุโรป ในเรื่องของนโยบายการเงินที่มีความเข้มงวดอยู่แล้ว
เชื่อว่าแนวโน้มข้างหน้าจะผ่อนคลายลง ต่างจากจีนที่แม้จะมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยแต่ไม่ได้
Aggressive มากนัก

"หากเศรษฐกิจจีนไม่ฟื้นตัว ตลาดหุ้นอาจเกิด Downside แต่ในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา เศรษฐกิจจีนยังเติบโตได้ใกล้เคียง 5.5% แต่ครึ่งปีหลังต้องออกแรงมากขึ้นในเชิงนโยบาย ไม่อย่างนั้นตัวเลขเศรษฐกิจจะชะลอต่ำกว่าเป้า
เราเชื่อว่าหากเศรษฐกิจจีนชะลอตัวลงจะกระทบอาเซียน เนื่องจากจีนเริ่มมีบทบาทมากขึ้นในหลายประเทศ ทั้งในเรื่องของนักท่องเที่ยวและการมีส่วนร่วมการบริโภคภายในอาเซียน ฉะนั้นต้องจับตาในช่วงที่เหลือของปีนี้ว่าจีนจะสามารถพาตัวเองฟื้นกลับมาเติบโตได้ตามเป้าหมายหรือไม่" นายชัยพร กล่าว

 

 

 

 

สำหรับมุมมองภาพรวมเศรษฐกิจไทยในช่วงที่เหลือของปี 66 ในเรื่องของการจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่น่าจะเห็นในเดือนก.ย.66 ซึ่งจะส่งผลให้ภาพรวมเศรษฐกิจไทยค่อย ๆ ฟื้นตัว จากการเพิ่มมาตรการต่าง ๆ ของภาครัฐ
แต่โอกาสที่จะเห็นการ
Downgrade ตัวเลขประมาณการเศรษฐกิจและกำไรบริษัทจดทะเบียนอาจยังมีอยู่ในครึ่งหลังปี 66 เพราะผลกระทบจากนโยบายกระตุ้นจากภาครัฐยังมีผลกระทบน้อยในปีนี้ แต่จะมีผลกระทบบวกในปีหน้าเพิ่มขึ้น

ส่วนเรื่องค่าเงินบาทมีโอกาสแข็งค่าในช่วงไตรมาส 4 ปี 66 จากมาตรการต่าง ๆ ของรัฐบาล, การส่งออกที่อาจ
ดีขึ้นในไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ ขณะที่การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐฯ น่าจะเห็นในไตรมาส
4 ปี 66
รวมถึงภาคท่องเที่ยวที่คาดว่าจะเห็นการขับเคลื่อนที่ดีขึ้น เนื่องจากนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาดการณ์ว่าอาจเห็นการ
Downgrade จำนวนนักท่องเที่ยวจาก 28 ล้านคน ลงมาอยู่ 25 ล้านคน สาเหตุจากจำนวนนักท่องเที่ยวจีนที่ออกนอกประเทศช้ากว่าคาด เนื่องจากค่าตั๋วเครื่องบินและค่าโรงแรมมีราคาแพงขึ้น ทำให้นักท่องเที่ยวจีนเน้นท่องเที่ยวภายในประเทศมากกว่า

ในเรื่องของอัตราเงินเฟ้ออาจอยู่ในทิศทางค่อย ๆ ปรับตัวลง ซึ่งเงินเฟ้อไม่ได้เป็นประเด็นกดดันมากนักต่อทิศทางการปรับอัตราดอกเบี้ยของธนาคารแห่งประเทศไทย จึงมองเงินเฟ้ออยู่ในขาลงแม้ว่าความเสี่ยงเรื่องราคาอาหารสัตว์
ราคาเนื้อสัตว์ยังมีอยู่ แต่ราคาหมูและไก่ก็ปรับตัวลดลงส่วนหนึ่งจากมีการนำเข้าหมูเถื่อน ส่วน
ปรากฏการณ์เอลนีโญ
ภัยแล้ง
ถือเป็นความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นในช่วงครึ่งแรกของปี 67 ต่อภาวะราคาอาหารที่จะปรับตัวสูงขึ้น สำหรับราคาน้ำมันดิบยังคงไม่ใช่จุดเสี่ยง เพราะอัตราการผลิตสำรองน้ำมันทั้งกลุ่มโอเปกและกลุ่มนอกโอเปกมีอยู่ และโอเปกยังคงขยายเวลาปรับลดการผลิตน้ำมัน แม้จะเป็นการขยายเวลาแบบเดือนต่อเดือน แต่มองว่าราคาน้ำมันยังอยู่ในจุดที่สมดุลและรับได้ เราคาดการณ์ราคาน้ำมันยังอยู่ในกรอบระดับ 80-90 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล 

ทั้งนี้ในเรื่องของการปล่อยสินเชื่อของสถาบันการเงินและนอนแบงก์ยังอยู่ในโหมด "ระมัดระวัง" จากคุณภาพหนี้ของ SME และคุณภาพของคนถือบัตรเครดิต ขณะที่อัตราการปล่อยสินเชื่อที่ผ่านมา การกู้ซื้อบ้านถูกปฏิเสธในระดับสูงเกิน 25% หรือ 1 ใน 4 สอดคล้องกับระดับหนี้ภาคครัวเรือนที่ยังสูงกว่า 80% เรื่องนี้ถือเป็นโจทย์ที่ยากสำหรับรัฐบาล
ชุดใหม่ เพราะหนี้ภาคครัวเรือนและหนี้ภาครัฐเมื่อเทียบ
GDP อยู่ในระดับชนเพดาน ดังนั้นการกระตุ้นหรือการกู้จะทำได้ค่อนข้างลำบากและต้องระมัดระวัง

นายชัยพร กล่าวต่อว่า สำหรับกลุ่มหุ้นน่าสนใจในช่วงที่เหลือของปี 66 คือ 1. กลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภคภายในประเทศที่จะได้รับประโยชน์จากภาวะเศรษฐกิจที่ค่อย ๆ ฟื้นตัว และนโยบายต่าง ๆ ของรัฐบาล เราจึงเพิ่มน้ำหนักการลงทุน (Overweight) ใน 1. กลุ่มธนาคาร เนื่องจากการควบคุมความเสี่ยงได้ดี, เงินกองทุน CAR ตามมาตรฐานของธนาคารแห่งประเทศยังอยู่ในระดับสูง มีความมั่นคง ถือว่าบาลานซ์ได้ดี ส่วนนอนแบงก์หรือไฟแนนซ์ที่ปล่อยกู้คอนซูเมอร์ไฟแนนซ์ ยังมีความเสี่ยงกับคุณภาพของลูกหนี้ ฉะนั้นแนะนำชะลอการลงทุนในกลุ่มนอนแบงก์ไปก่อน

2. กลุ่มบริโภคภายในประเทศ จากนโยบายของพรรคเพื่อไทยที่จะแจกเงิน 10,000 บาท ผ่านโทเคนให้ประชาชนจับจ่ายใช้สอยในรัศมี 4 กิโลเมตร เพื่อให้เงินกระจายในท้องถิ่นนั้น หากดูจากประมาณการเม็ดเงินที่แบงก์ชาติพูดถึง
5 แสนล้านบาท ต้องผ่านกระบวนการแก้กฎหมายขยายเพดานหนี้ก่อน แต่ในแง่ผลบวกเชิงเศรษฐกิจการหมุนเวียน
การบริโภคภายในประเทศในระยะสั้นน่าจะดีขึ้น หุ้นที่เกี่ยวข้องกับการบริโภคน่าจะดีและได้รับความสนใจจากนักลงทุนมากขึ้น
3. กลุ่มธุรกิจด้านการท่องเที่ยว ซึ่งจะได้รับประโยชน์จากมาตรการยกเว้นค่าธรรมเนียมวีซ่า และประเทศไทยยังเด่นในด้านอาหาร Street food, spa และ services

 

 

ส่วนกลุ่มที่เรายังคงแนะ Underweight หรือมองเชิงลบ คือ 1. กลุ่มที่เกี่ยวข้องกับภาคก่อสร้าง เนื่องจากการผลักดันโครงการขนาดใหญ่ของภาครัฐยังทำได้ยากถัดจากนี้ ด้วยข้อจำกัดด้านหนี้สาธารณะที่สูง ขณะที่การลงทุนของภาคเอกชนจะรอจนเห็นนโยบายของภาครัฐชัดเจนก่อน 2. กลุ่มขนส่งเดินเรือ ในช่วงปีก่อนทำได้ดีมาก
แต่ปีนี้ค่าระวางลดลงมากกระทบกำไรบริษัทเดินเรือ เราจึงมองว่าปีหน้าจะดีเฉพาะรถไฟกับสนามบิน
3. กลุ่มปิโตรเคมี Spread ยังไม่ดี ซัพพลายเข้าสู่ตลาดค่อนข้างมาก

สำหรับการจัดพอร์ตลงทุน (Asset Allocation) เราแนะนำลงทุนในตราสารหนี้ภาครัฐ ตราสารหนี้ภาคเอกชน Investment Rating สัดส่วน 32% ทองคำ 13% ส่วนที่เหลือแนะลงทุนในตลาดหุ้น 55% โดยตลาดหุ้นต่างประเทศที่เราชอบ คือ เวียดนาม ฮ่องกง และสหรัฐฯ