ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (เลขาธิการ คปภ.) เปิดเผยว่า ปัจจุบันอัตราการใช้งานอากาศยานไร้คนขับ หรือ โดรน มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องด้วยประโยชน์ใช้สอยที่เพิ่มขึ้น ในขณะที่ระดับราคาไม่สูงเหมือนในอดีตจึงทำให้มีการใช้ โดรน อย่างแพร่หลายในหลายๆ ด้านไม่ว่าจะเป็นด้านสื่อสาร ด้านการเกษตร ด้านการสำรวจ ฯลฯ ซึ่งสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) เป็นหน่วยงานกำกับการดำเนินธุรกิจทางอากาศยาน ตามประกาศกระทรวงคมนาคม เรื่องหลักเกณฑ์การอนุญาตและเงื่อนไขในการบังคับหรือปล่อยอากาศยานซึ่งไม่มีนักบินประเภทอากาศยานที่ควบคุมการบินจากภายนอกพ.ศ.2558 เพื่อควบคุมดูแลการใช้โดรนให้เป็นไปอย่างเหมาะสม โดยกำหนดให้มีการขึ้นทะเบียนสำหรับผู้ใช้โดรนใน 3 ประเภท คือ 1. โดรนติดกล้อง 2. โดรนที่หนักเกิน 2 กิโลกรัม และ 3. โดรนที่น้ำหนักมากกว่า25 กิโลกรัม และที่สำคัญในการขึ้นทะเบียนดังกล่าวได้กำหนดให้ต้องมีเอกสารกรมธรรม์ประกันภัย ซึ่งคุ้มครองความเสียหายอันเกิดแก่ร่างกาย ชีวิต ตลอดจนทรัพย์สินของบุคคลที่สาม วงเงินประกันไม่ต่ำกว่าหนึ่งล้านบาท ต่อครั้งเป็นหลักฐานประกอบการขอขึ้นทะเบียนดังกล่าวด้วย
สำนักงาน คปภ. ได้เล็งเห็นความสำคัญในการใช้โดรนอย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะในสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 หากมีการนำโดรนมาใช้สำรวจภัย ความเสียหาย หรือเก็บข้อมูลจากคน สถานที่ ที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อ โดยมีการเน้น social distance หรือ การรักษาระยะห่าง ก็จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง ดังนั้นเลขาธิการคปภ. จึงได้มอบหมาย นายชูฉัตร ประมูลผล รองเลขาธิการด้านกำกับพร้อมคณะเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องในการปรับปรุงกรมธรรม์ดังกล่าว เข้าประชุมหารือร่วมกับคณะเจ้าหน้าที่ของกพท. โดยมีนายจุฬา สุขมานพผู้อำนวยการ กพท. เป็นประธาน เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2563 ณสำนักงานการบินพลเรือนฯ ตึกไอทีสแควร์ หลักสี่ กรุงเทพมหานคร
โดยได้ข้อสรุปร่วมกัน 3 ประเด็นที่สำคัญ คือ ประเด็นแรก แนวทางในการพัฒนากรมธรรม์ประกันภัยความรับผิดตามกฎหมายจากการใช้อากาศยานซึ่งไม่มีนักบินประเภทอากาศยานที่ควบคุมการบินจากภายนอก (โดรน) เพื่อใช้ประกอบการขึ้นทะเบียนผู้ใช้โดรน ซึ่งจะจัดทำเป็นกรมธรรม์ประกันภัยแบบมาตรฐานร่วมกับสมาคมประกันวินาศภัยไทย ด้วยการสนับสนุนข้อมูลที่เกี่ยวข้องจาก กพท. เพื่อให้ความคุ้มครองที่สอดคล้องกับกฎหมายและเพิ่มความสะดวกในการตรวจสอบเอกสารการขึ้นทะเบียน
ประเด็นที่ 2 การพัฒนากรมธรรม์ประกันภัยสำหรับผู้ขนส่งที่ดำเนินการรับขนทางอากาศที่ครอบคลุมถึงผู้ประกอบการรับขน (Freight Forwarder) เพื่อให้การประกันภัยมีความต่อเนื่องและครอบคลุมตลอดเส้นทางการขนส่ง ซึ่งปัจจุบันมีบริษัทประกันภัยส่วนหนึ่งรับประกันภัยอยู่แล้ว อย่างไรก็ตามจะมีการจัดทำกรมธรรม์ประกันภัยความรับผิดของผู้ขนส่งฯ ฉบับมาตรฐานเพิ่มเติม ซึ่งมีแนวทางในการพิจารณารับประกันภัยแบบกลุ่มร่วมกับสมาคมขนส่งฯ ที่เกี่ยวข้อง
ประเด็นที่ 3 การปรับใช้โดรนสำหรับธุรกิจประกันภัยที่มีข้อจำกัดทางกฎหมาย เนื่องจากการใช้โดรนในการสำรวจความเสียหายในพื้นที่ห่างไกล หรือใช้สำหรับตรวจสอบความเสี่ยงก่อนพิจารณารับประกันภัยเป็นการกระทำที่ขัดกับหลักเกณฑ์และเงื่อนไขตามที่กำหนดในกฎกระทรวงฯ เช่น ห้ามทำการบินในบริเวณเขตห้าม/เขตจำกัด ทั้งนี้ ผู้บังคับโดรนต้องสามารถมองเห็นอากาศยานได้ตลอดเวลาที่ทำการบินเป็นต้น ซึ่ง กพท. รับทราบประเด็นดังกล่าวเพื่อนำไปพัฒนาแนวทางการกำกับที่เหมาะสมต่อไป
นอกจากนี้ ยังได้หารือเกี่ยวกับการประกันภัยอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง คือกรมธรรม์ประกันภัยสำหรับสายการบินและธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการบินและกรมธรรม์ประกันภัยสำหรับผู้ขนส่งที่ดำเนินการรับขนส่งทางอากาศซึ่งพบว่า มีกรมธรรม์ประกันภัยในตลาดรองรับและไม่พบอุปสรรคในการดำเนินงานใดๆ
“สำนักงาน คปภ. ให้ความสำคัญต่อการนำเทคโนโลยีมาใช้กับธุรกิจประกันภัยและธุรกิจอื่นๆที่เกี่ยวข้อง ซึ่งในต่างประเทศได้มีการนำโดรนมาใช้ในระบบการเคลมค่าสินไหมทดแทนในกรณีรถยนต์เกิดอุบัติเหตุชนกันบนท้องถนน ทำให้คู่กรณีสามารถเคลื่อนรถยนต์ที่เกิดอุบัติเหตุออกจากผิวจราจรได้ในระยะเวลาที่รวดเร็ว ดังนั้น ถ้าส่งเสริมให้มีการพัฒนาและใช้โดรนสำรวจภัย ความเสียหาย หรือเก็บข้อมูลจากคนสถานที่ ที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อจะเป็นการตอบโจทย์ social distance หรือการรักษาระยะห่างก็จะช่วยป้องกันการแพร่กระจายเชื้อไวรัสโควิด-19 ดังนั้นสำนักงาน คปภ. จึงมีแนวคิดที่จะพัฒนาและปรับปรุงกรมธรรม์ประกันภัยสำหรับผู้ใช้โดรน เพื่อให้มีความเหมาะสมกับความเสี่ยงภัยของทั้งผู้ประกอบธุรกิจและประชาชน รวมถึงกำหนดความคุ้มครองให้สอดคล้องกับระเบียบข้อบังคับต่างๆ เพื่อจัดทำเป็นกรมธรรม์ประกันภัยแบบมาตรฐานต่อไป” เลขาธิการ คปภ. กล่าวในตอนท้าย