ายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า
ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 35.37 บาทต่อดอลลาร์
“ทรงตัวไม่เปลี่ยนแปลง”
จากระดับปิดสัปดาหก่อนหน้า
โดยนับตั้งแต่ช่วงคืนวันศุกร์ของสัปดาห์ก่อนหน้า เงินบาทเคลื่อนไหวผันผวนในกรอบ sideway (แกว่งตัวในกรอบ 35.33-35.44 บาทต่อดอลลาร์) ตามการเคลื่อนไหวของเงินดอลลาร์ที่ไม่ได้มีทิศทางอย่างชัดเจน ทั้งนี้เงินบาทก็มีจังหวะอ่อนค่าลงบ้าง ตามโฟลว์ธุรกรรมซื้อทองคำในจังหวะย่อตัว หลังราคาทองคำยังคงปรับตัวลดลงต่อเนื่อง
สัปดาห์ที่ผ่านมา เงินดอลลาร์ยังคงแข็งค่าขึ้นต่อเนื่องตามมุมมองของผู้เล่นในตลาดที่เพิ่มโอกาสเฟดเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยและโอกาสที่เฟดจะคงดอกเบี้ยที่ระดับสูงได้นาน (Higher for Longer)
ในสัปดาห์นี้ เรามองว่า ควรรอติดตามรายงานดัชนี PMI ของประเทศเศรษฐกิจสำคัญ รวมถึงจับตาถ้อยแถลงของประธานเฟด ในงานสัมมนาวิชาการที่ Jackson Hole และรอลุ้น การโหวตเลือกนายกฯ ของไทยในวันที่ 22 สิงหาคมนี้
มุมมองเศรษฐกิจทั่วโลก
▪ ฝั่งสหรัฐฯ – ไฮไลท์สำคัญจะอยู่ที่ถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด โดยเฉพาะ ถ้อยแถลงของประธานเฟดในงานสัมมนาวิชาการประจำปีของเฟดที่เมือง Jackson Hole (ตลาดจะทยอยรับรู้ถ้อยแถลงดังกล่าวในช่วงราว 21.05 น. ของวันศุกร์ที่ 25 นี้ ตามเวลาในประเทศไทย) โดยตลาดจะรอตีความการส่งสัญญาณเกี่ยวกับทิศทางนโยบายการเงินของเฟด หลังล่าสุด รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ โดยรวมยังคงออกมาดูดีและเจ้าหน้าที่เฟดบางส่วนก็ออกมาสนับสนุนการเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อ จนทำให้ล่าสุดผู้เล่นในตลาดปรับเพิ่มโอกาสเฟดขึ้นดอกเบี้ยต่อ รวมถึงโอกาสที่เฟดจะคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับสูงได้นาน ซึ่งมุมมองดังกล่าวของผู้เล่นในตลาดได้หนุนให้ทั้งบอนด์ยีลด์สหรัฐฯ และเงินดอลลาร์ปรับตัวขึ้นต่อเนื่องในสัปดาห์ที่ผ่านมา นอกจากนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอจับตารายงานดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตและภาคการบริการ (S&P Manufacturing & Services PMIs) เดือนสิงหาคม เพื่อประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ และทิศทางนโยบายการเงินของเฟด โดยนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ต่างมองว่า ภาคการผลิตของสหรัฐฯ อาจยังคงหดตัวต่อเนื่อง โดยดัชนี PMI ภาคการผลิตจะอยู่ที่ระดับ 49 จุด (ดัชนีต่ำกว่า 50 จุด หมายถึง ภาวะหดตัว) ในขณะที่ภาคการบริการจะยังคงขยายตัวต่อเนื่องได้ แม้การขยายตัวอาจชะลอลงบ้าง ตามผลกระทบของการขึ้นดอกเบี้ยของเฟด รวมถึงเงินออมส่วนเกิน (Excess Savings) ของคนอเมริกันที่ทยอยลดลง โดยดัชนี PMI ภาคการบริการอาจลดลงเล็กน้อยสู่ระดับ 52 จุด
▪ ฝั่งยุโรป – นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ประเมินว่า เศรษฐกิจยุโรปยังคงมีแนวโน้มชะลอตัวลงต่อเนื่อง สะท้อนผ่านดัชนี PMI ภาคการผลิตและภาคการบริการของยูโรโซนและอังกฤษ ในเดือนสิงหาคม ที่มีแนวโน้มปรับตัวลดลง กดดันจากผลกระทบของการเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยนโยบายของทั้งธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) และธนาคารกลางยุโรป (ECB) ในช่วงที่ผ่านมา รวมถึงภาพเศรษฐกิจคู่ค้าสำคัญที่ชะลอตัวต่อเนื่อง โดยเฉพาะจีน อย่างไรก็ดี แม้ว่าภาพเศรษฐกิจอังกฤษและยูโรโซนจะมีแนวโน้มชะลอตัวลงมากขึ้น แต่เรายังคงมองว่า อัตราเงินเฟ้อของทั้งอังกฤษและยูโรโซนที่ยังคงอยู่ในระดับสูงมาก เมื่อเทียบกับเป้าหมายของธนาคารกลาง จะส่งผลให้ BOE และ ECB มีโอกาสเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อได้ในปีนี้
▪ ฝั่งเอเชีย – ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้นการปรับอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลูกหนี้ชั้นดี (Loan Prime Rate) ของธนาคารกลางจีน (PBOC) หลังจากสัปดาห์ก่อนหน้า PBOC ได้เซอร์ไพร์สตลาดด้วยการลดอัตราดอกเบี้ย MLF -15bps สู่ระดับ 2.50% ท่ามกลางรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญของจีนที่ออกมาแย่กว่าคาด โดยนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ต่างมองว่า PBOC อาจปรับลด LPR ประเภท 1 ปี และ 5 ปี ลงราว -15bps เช่นกัน เพื่อช่วยพยุงการฟื้นตัวเศรษฐกิจ ทั้งนี้ ตลาดอสังหาฯ จีนที่ยังคงซบเซา อาจเพิ่มโอกาสที่ PBOC อาจลด LPR ประเภท 5 ปี ลงมากกว่า -15bps อย่างไรก็ดี ในส่วนนโยบายการเงินของธนาคารกลางอื่นๆ ตลาดมองว่า ทั้งธนาคารกลางเกาหลีใต้ (BOK) และ ธนาคารกลางอินโดนีเซีย (BI) จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับ 3.50% และ 5.75% ตามลำดับ หลังอัตราเงินเฟ้อของทั้งสองประเทศมีแนวโน้มชะลอลงเข้าใกล้ระดับเป้าหมายของธนาคารกลาง อนึ่ง ในส่วนรายงานข้อมูลเศรษฐกิจ ตลาดจะรอจับตารายงานดัชนี PMI ภาคการผลิตและภาคการบริการของญี่ปุ่นในเดือนสิงหาคม โดยนักวิเคราะห์มองว่า เศรษฐกิจญี่ปุ่นยังคงได้แรงหนุนจากการฟื้นตัวต่อเนื่องของการท่องเที่ยว ซึ่งจะสะท้อนผ่านดัชนี PMI ภาคการบริการที่ยังอยู่ในระดับ 53-54 จุด (ดัชนีสูงกว่า 50 จุด หมายถึง ภาวะขยายตัว) ขณะที่ภาคการผลิตอาจยังคงหดตัว (ดัชนี PMI ภาคการผลิตอาจลดลงสู่ระดับ 49.5 จุด) ตามการชะลอตัวของเศรษฐกิจคู่ค้าสำคัญ โดยเฉพาะจีน ที่ยังมีปัญหาสินค้าคงคลัง (Inventory) อยู่ในระดับสูง
▪ ฝั่งไทย – ไฮไลท์สำคัญจะอยู่ที่การโหวตเลือกนายกฯ วันที่ 22 สิงหาคมนี้ ซึ่งอาจส่งผลต่อทิศทางฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติและความผันผวนของเงินบาทได้อย่างมีนัยสำคัญ ในส่วนรายงานข้อมูลเศรษฐกิจ นักวิเคราะห์ต่างมองว่า เศรษฐกิจไทยอาจขยายตัวราว +1.2%q/q หรือ +3.0%y/y ในไตรมาสที่ 2 หนุนโดยการฟื้นตัวต่อเนื่องของการท่องเที่ยว ขณะที่ปัจจัยกดดันอาจมาจากการค้าระหว่างประเทศที่ซบเซา รวมถึงการลงทุนที่อาจชะลอลงมากขึ้นจากความไม่แน่นอนของสถานการณ์การเมือง
สำหรับ แนวโน้มของค่าเงินบาท เรามองว่า แม้ว่าโมเมนตัมการอ่อนค่าเริ่มแผ่วลงตามคาด แต่เงินบาทก็อาจผันผวนสูงในกรอบกว้าง เนื่องจากสถานการณ์การเมืองไทยอาจยังมีความไม่แน่นอน จนกว่าการโหวตเลือกนายกฯ และจัดตั้งรัฐบาลจะเสร็จสิ้นลง นอกจากนี้ ควรระวังความผันผวนจากฝั่งตลาดการเงินจีน ที่ยังคงเผชิญแรงกดดันจากปัญหาหนี้ภาคอสังหาฯ อนึ่ง เราประเมินแนวต้านแรกของเงินบาทแถวโซน 35.50-35.60 บาทต่อดอลลาร์ ส่วนแนวรับแรกจะอยู่ในช่วง 35.20 บาทต่อดอลลาร์
ในส่วนเงินดอลลาร์นั้น เรามองว่า เงินดอลลาร์อาจแกว่งตัว sideway หรือแข็งค่าขึ้นได้ หากตลาดยังอยู่ในภาวะปิดรับความเสี่ยง หรือตลาดยิ่งเชื่อว่าเฟดมีโอกาสเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อหรือคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับสูงได้นานกว่าคาด ซึ่งต้องจับตาทั้งรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ และถ้อยแถลงของประธานเฟด
เราคงคำแนะนำว่า ในช่วงที่ตลาดการเงินยังมีความผันผวนสูงจากทั้งปัจจัยการเมืองไทยและบรรยากาศในตลาดการเงินโลก ผู้ประกอบการควรใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงที่หลากหลาย อาทิ Option เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน
มองกรอบค่าเงินบาทสัปดาห์นี้ ที่ระดับ 35.00-35.75บาท/ดอลลาร์
ส่วนกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 35.25-35.50บาท/ดอลลาร์