TTA รายงานกำไรสุทธิที่แข็งแกร่งจำนวน 629.8 ล้านบาท ในไตรมาสที่ 2/2566
เป็นผลจากกลุ่มธุรกิจขนส่งทางเรือและธุรกิจบริการนอกชายฝั่ง
· กลุ่มธุรกิจขนส่งทางเรือรายงานผลกำไรสุทธิในไตรมาสที่ 2/2566 จำนวน 437.9 ล้านบาท โดยมีอัตราค่าระวางเรือเทียบเท่าเฉลี่ยสูงกว่าอัตราค่าระวางเรือซุปราแมกซ์สุทธิถึงร้อยละ 44
· กลุ่มธุรกิจบริการนอกชายฝั่งกลับมาพลิกฟื้น มีกำไรสุทธิ 64.0 ล้านบาท โดยมีมูลค่าสัญญาให้บริการที่รอส่งมอบสูงถึง 337.1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในไตรมาสที่ 2/2566
· กลุ่มธุรกิจเคมีภัณฑ์เพื่อการเกษตร รายงานกำไรสุทธิ 2.1 ล้านบาท และมีปริมาณยอดขายปุ๋ยที่เพิ่มขึ้น ในไตรมาสที่ 2/2566
· TTA มีฐานะการเงินมั่นคงด้วยเงินสดภายใต้การบริหารจำนวน 11.4 พันล้านบาท
· โครงสร้างเงินทุนแข็งแกร่งด้วยอัตราส่วนหนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ยต่อส่วนของผู้ถือหุ้นอยู่ในระดับต่ำที่ 0.42 เท่า
กรุงเทพฯ ประเทศไทย 10 สิงหาคม 2566 – บริษัท โทรีเซนไทย เอเยนต์ซีส์ จำกัด (มหาชน) หรือ TTA รายงานรายได้ที่แข็งแกร่ง จำนวน 6,001.0 ล้านบาท ในไตรมาสที่ 2/2566 โดยเพิ่มขึ้นร้อยละ 26 จากช่วงเดียวกันของไตรมาสก่อน ซึ่งเป็นผลมาจากการดำเนินงานที่ดีขึ้นของกลุ่มธุรกิจส่วนใหญ่ โดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจบริการนอกชายฝั่งและกลุ่มธุรกิจเคมีภัณฑ์เพื่อการเกษตร ทั้งนี้ กลุ่มธุรกิจขนส่งทางเรือ กลุ่มธุรกิจบริการนอกชายฝั่ง กลุ่มธุรกิจเคมีภัณฑ์เพื่อการเกษตร กลุ่มธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม และกลุ่มการลงทุนอื่น มีสัดส่วนรายได้ร้อยละ 35 ร้อยละ 36 ร้อยละ 16 ร้อยละ 8 และร้อยละ 5 ของรายได้รวมทั้งหมด ตามลำดับ โดย TTA มีกำไรขั้นต้นเป็น 1,450.9 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 33 จากช่วงเดียวกันของไตรมาสก่อน ส่วน EBITDA เติบโตร้อยละ 49 จากช่วงเดียวกันของไตรมาสก่อน เป็น 883.6 ล้านบาท นอกจากนี้ มีผลกําไรจากสกุลเงินต่างประเทศจำนวน 301.2 ล้านบาท ส่วนใหญ่มาจากกำไรที่ยังไม่เกิดขึ้นจริงจากเงินให้กู้ยืมแก่กิจการที่เกี่ยวข้อง และการลงทุนระยะสั้นในสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ เนื่องจากเงินบาทอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐ อีกทั้ง ยังมีผลกำไรสุทธิจากรายการพิเศษที่ไม่ได้เกิดขึ้นเป็นประจำ จำนวน 152.6 ล้านบาท จากกำไรจากการขายเงินลงทุน
ในการร่วมค้าหนึ่งแห่ง และการปรับมูลค่าของสินทรัพย์ดิจิทัล ดังนั้น TTA รายงานผลกำไรสุทธิ เพิ่มขึ้นร้อยละ 193 จากช่วงเดียวกันของไตรมาสก่อน เป็นจำนวน 629.8 ล้านบาท
ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2566 TTA มีสินทรัพย์รวม 44,677.4 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3,084.8 ล้านบาท หรือร้อยละ 7 จากสิ้นปี 2565 สาเหตุหลักมาจากการเพิ่มขึ้นของเงินสดและรายการเทียบเท่าเงินสด ที่ดิน อาคารและอุปกรณ์ และสินทรัพย์ดิจิทัล โดยเงินสดและรายการเทียบเท่าเงินสดเพิ่มขึ้น เป็น 9,821.9 ล้านบาท ส่วนใหญ่มาจากการออกหุ้นกู้ในเดือนมกราคมและกำไรจากการดำเนินงานในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2566 ทั้งนี้ ฐานะการเงินยังคงแข็งแกร่งต่อเนื่อง เห็นได้จากอัตราส่วนหนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ยต่อส่วนของผู้ถือหุ้นอยู่ในระดับต่ำที่ 0.42 เท่า ณ สิ้นไตรมาสที่ 2/2566
นายเฉลิมชัย มหากิจศิริ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร TTA กล่าวว่า “ในไตรมาส 2/2566 อัตราค่าระวางเรือเทียบเท่าเฉลี่ยของโทรีเซน ชิปปิ้ง ยังคงสูงกว่าอัตราค่าระวางเรือซุปราแมกซ์ของตลาด ในขณะที่กลุ่มธุรกิจบริการนอกชายฝั่งประสบความสำเร็จในการพลิกฟื้นผลประกอบการกลับมาเป็นกำไร และมีมูลค่างานให้บริการที่รอส่งมอบ (order book) ที่แข็งแกร่ง อีกทั้งกลุ่มธุรกิจเคมีภัณฑ์เพื่อการเกษตร สามารถทำกำไรได้ในไตรมาสนี้ จากปริมาณการขายปุ๋ยที่เพิ่มขึ้น
ธุรกิจขนส่งทางเรือในครึ่งปีหลังของปี 2566 สภาวะตลาดในระดับปานกลางจะยังคงมีอยู่ ทั้งนี้ ยังมีแนวโน้มในเชิงบวกจากปัจจัยตามฤดูกาล สำหรับแนวโน้มสำหรับทั้งปี 2566 มีความสมดุล จากบทวิเคราะห์ของ Clarksons คาดการณ์การเติบโตของการค้าสินค้าแห้งเทกองที่ร้อยละ 2.7 ในหน่วยตัน หรือร้อยละ 3.3 ในหน่วยตัน-ไมล์ และคาดการณ์การขยายกองเรือที่ร้อยละ 2.9 ในหน่วยเดทเวทตัน (DWT) ซึ่งการเติบโตของอุปสงค์ถูกขับเคลื่อนด้วยจีน ขณะที่ การขยายกองเรืออยู่ในระดับกลาง ยอดสั่งต่อเรือยังคงต่ำในรอบ 30 ปี ที่ร้อยละ 7 ของปริมาณกองเรือทั่วโลกทั้งหมด ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากความไม่แน่นอนในการออกแบบเรือใหม่ตามข้อกำหนดด้านสิ่งแวดล้อมใหม่ นอกจากนี้ กฎระเบียบด้านการปล่อยมลพิษใหม่ เช่น EEXI และ CII อาจช่วยทำให้อุปทานเรือขนส่งบางส่วนลดลงประมาณร้อยละ 2.0 – 2.5 ในปี 2566 และ 2567 จากความเร็วในการเดินเรือที่ลดลง”
ผลการดำเนินงานของรายกลุ่มธุรกิจ
กลุ่มธุรกิจขนส่งทางเรือ :
ในไตรมาสที่ 2/2566 โทรีเซน ชิปปิ้ง รายงานรายได้ค่าระวางเรือ อยู่ที่ 2,111.3 ล้านบาท ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 2 จากช่วงเดียวกันของไตรมาสก่อน เนื่องจากการฟื้นตัวของค่าระวางเรือจากระดับต่ำในช่วงเทศกาลตรุษจีนในไตรมาสที่ 1/2566
โดยอัตราค่าระวางเรือเทียบเท่าเฉลี่ย ปรับตัวเพิ่มขึ้น ร้อยละ 7 เทียบกับช่วงเดียวกันของ ไตรมาสก่อน อยู่ที่ 14,719 ดอลลาร์สหรัฐต่อวัน อย่างไรก็ตาม อัตราค่าระวางเรือเทียบเท่าเฉลี่ย ยังคงสูงกว่าอัตราค่าระวางเรือซุปราแมกซ์สุทธิที่ 10,225 ดอลลาร์สหรัฐต่อวัน อยู่ร้อยละ 44 อัตราค่าระวางเรือเทียบเท่าสำหรับเรือที่โทรีเซน ชิปปิ้ง เป็นเจ้าของ ยังคงเพิ่มขึ้นร้อยละ 7 เทียบกับช่วงเดียวกันของไตรมาสก่อน โดยมีอัตราค่าระวางเรือเทียบเท่าสูงสุดอยู่ที่ 28,023 ดอลลาร์สหรัฐต่อวัน และมีอัตราการใช้ประโยชน์เรือสูงถึงร้อยละ 100 ในขณะที่ ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานของเรือ (OPEX) อยู่ที่ 4,500 ดอลลาร์สหรัฐต่อวัน ซึ่งยังคงอยู่ในระดับต่ำกว่าค่าเฉลี่ยอุตสาหกรรมอยู่ร้อยละ 2 โดยมีอัตรากำไรขั้นต้นเพิ่มขึ้นร้อยละ 3 จากช่วงเดียวกันของไตรมาสก่อน เป็น 654.6 ล้านบาท และมี EBITDA ที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 2 จากช่วงเดียวกันของ ไตรมาสก่อน เป็น 608.9 ล้านบาท
ดังนั้น ไตรมาสที่ 2/2566 โทรีเซน ชิปปิ้ง รายงานผลกำไรสุทธิส่วนที่เป็นของ TTA จำนวน 437.9 ล้านบาท ซึ่งเติบโตเพิ่มขึ้นร้อยละ 4 จากช่วงเดียวกันของไตรมาสก่อน โดยเป็นเจ้าของเรือ จำนวน 24 ลำ (เรือซุปราแมกซ์ จำนวน 22 ลำ และเรืออัลตราแมกซ์ จำนวน 2 ลำ) มีระวางบรรทุกเฉลี่ยเท่ากับ 55,913 เดทเวทตัน (DWT) และมีอายุเฉลี่ย 15.2 ปี
กลุ่มธุรกิจบริการนอกชายฝั่ง :
บริษัท เมอร์เมด มาริไทม์ จำกัด (มหาชน) หรือเมอร์เมดฯ มีรายได้ในไตรมาสที่ 2/2566 อยู่ที่ 2,138.6 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 45 จากช่วงเดียวกันของไตรมาสก่อน สาเหตุหลักมาจากรายได้ที่เพิ่มขึ้นของงานที่ไม่ใช้เรือในโครงการวิศวกรรมใต้ทะเล (Non-Vessel Subsea-IRM) และการเพิ่มขึ้นของงานรื้อถอน (decommissioning) งานขนส่งและติดตั้ง (Transportation & Installation: T&I) โดยรายได้จากงานวิศวกรรมใต้ทะเล (Subsea-IRM) งานรื้อถอน งานขนส่งและติดตั้ง และงานวางสายเคเบิลใต้ทะเล มีสัดส่วนรายได้ร้อยละ 62 ร้อยละ 20 และร้อยละ 18 ของรายได้รวมของกลุ่มธุรกิจฯ ตามลำดับ โดยรายได้จากงานวิศวกรรมใต้ทะเล เพิ่มขึ้น ร้อยละ 58 จากช่วงเดียวกันของไตรมาสก่อน เนื่องจากการเพิ่มขึ้นของงานที่ไม่ใช้เรือในโครงการวิศวกรรมใต้ทะเลด้านสำรวจ
และซ่อมบำรุง และอัตราการใช้ประโยชน์ของเรือวิศวกรรมใต้ทะเลที่เพิ่มขึ้น เป็นร้อยละ 100 ในไตรมาสที่ 2/2566 จากร้อยละ 96 ใน ไตรมาสที่ 2/2565 และร้อยละ 97 ในไตรมาสที่ 1/2566 อีกทั้ง รายได้จากงานรื้อถอน งานขนส่งและติดตั้ง และงานวางสายเคเบิลใต้ทะเลเพิ่มขึ้นร้อยละ 23 จากช่วงเดียวกันของไตรมาสก่อน
เมอร์เมดฯ ประสบความสำเร็จในการพลิกฟื้นผลประกอบการกลับมาเป็นกำไรสุทธิ จำนวน 111.9 ล้านบาท และผลกำไรสุทธิส่วนที่เป็นของ TTA จำนวน 64.0 ล้านบาท ในไตรมาสที่ 2/2566 ซึ่งปรับตัวดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ร้อยละ 167 จากช่วงเดียวกันของไตรมาสก่อน รวมทั้งกลุ่มธุรกิจบริการนอกชายฝั่งมีมูลค่าสัญญาให้บริการรอส่งมอบสูงถึง 337.1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
กลุ่มธุรกิจเคมีภัณฑ์เพื่อการเกษตร :
ในไตรมาสที่ 2/2566 บริษัท พีเอ็ม โทรีเซน เอเชีย โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ PMTA รายงานรายได้รวมที่ 954.0 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 132 จากช่วงเดียวกันของไตรมาสก่อน จากการขายปุ๋ยและผลิตภัณฑ์เคมีเพื่อการเกษตรอื่น (pesticide) ที่เพิ่มขึ้นในช่วงฤดูกาลเพาะปลูก รายได้จากการขายปุ๋ยเพิ่มขึ้น ร้อยละ 140 จากช่วงเดียวกันของไตรมาสก่อน จากปริมาณการขายปุ๋ยที่เพิ่มขึ้น
โดยปริมาณขายปุ๋ยรวมอยู่ที่ 43.2 พันตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 207 เนื่องจากการฟื้นตัวของความต้องการใช้ปุ๋ยในประเทศเวียดนาม ปริมาณขายปุ๋ยในประเทศอยู่ที่ 36.0 พันตัน ซึ่งปรับตัวขึ้น ร้อยละ 238 จากช่วงเดียวกันของไตรมาสก่อนสำหรับ ปริมาณส่งออกปุ๋ยปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 111 จากช่วงเดียวกันของไตรมาสก่อน เป็นผลมาจากปริมาณการส่งออกปุ๋ยไปยังแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่เพิ่มขึ้น
ส่วนรายได้จากการขายผลิตภัณฑ์เคมีเพื่อการเกษตรอื่น (pesticide) เพิ่มขึ้นเช่นเดียวกันที่ร้อยละ 168 จากช่วงเดียวกันของไตรมาสก่อน เป็น 93.4 ล้านบาท เนื่องจากการฟื้นตัวของตลาด เช่นเดียวกันกับรายได้จากการให้บริการจัดการพื้นที่โรงงานเพิ่มขึ้น ร้อยละ 6 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เป็น 25.7 ล้านบาท จากการเข้าซื้ออาคารคลังสินค้าขนาด 10,000 ตารางเมตร
โดยสรุป PMTA รายงานผลกกำไรสุทธิในไตรมาสที่ 2/2566 จำนวน 3.1 ล้านบาท และผลกำไรสุทธิส่วนที่เป็น
ของ TTA จำนวน 2.1 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 108 จากช่วงเดียวกันของไตรมาสก่อน
กลุ่มธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม (Food & Beverage)
พิซซ่า ฮัท ดำเนินงานภายใต้บริษัทย่อยที่ TTA ถือหุ้นอยู่ร้อยละ 70 ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2566 พิซซ่า ฮัท มีสาขาจำนวน 191 สาขาทั่วประเทศ ซึ่งสาขาทั้งหมดเป็นสาขาที่เปิดตามหัวเมืองใหญ่
ทาโก้ เบลล์ เป็นแฟรนไชส์อาหารสไตล์เม็กซิกันที่มีชื่อเสียงชั้นนำระดับโลกจากสหรัฐอเมริกา ดำเนินงานภายใต้บริษัทย่อยที่ TTA ถือหุ้นอยู่ร้อยละ 70 ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2566 ทาโก้ เบลล์ มี 16 สาขาทั่วประเทศ
กลุ่มการลงทุนอื่น (Investment) มุ่งเน้นธุรกิจการบริหารทรัพยากรน้ำและโลจิสติกส์
บริษัท เอเชีย อินฟราสตรักเชอร์ แมเนจเม้นท์ (ประเทศไทย) จำกัด หรือ AIM ซึ่งเป็นบริษัทย่อยที่ TTA ถือหุ้นอยู่ร้อยละ 89.40 เป็นผู้ออกแบบ ก่อสร้าง และให้บริการครบวงจรทางด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ AIM ยังได้รับสัมปทานในการจำหน่ายน้ำประปาในหลวงพระบาง ประเทศลาว ผ่านบริษัทย่อยที่ AIM ถือหุ้นอยู่ร้อยละ 66.7