ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 34.58 บาทต่อดอลลาร์ “อ่อนค่าลง”
นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า
ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 34.58 บาทต่อดอลลาร์ “อ่อนค่าลง”
จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 34.43 บาทต่อดอลลาร์
โดยในช่วงคืนก่อนหน้า ค่าเงินบาทพลิกกลับมาอ่อนค่าลงต่อเนื่อง (แกว่งตัวในช่วง 34.37-34.56 บาทต่อดอลลาร์)
กดดันโดยการแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ และโฟลว์ซื้อทองคำในจังหวะย่อตัว
โดยราคาทองคำปรับตัวลดลงตามการปรับตัวขึ้นของทั้งเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากรายงานข้อมูลดัชนี PMI
ภาคการผลิตและภาคการบริการฝั่งสหรัฐฯ ที่ออกมาดีกว่ารายงานดัชนี PMI
ของฝั่งยุโรป และภาพรวมตลาดการเงินสหรัฐฯ
ที่กลับมาเปิดรับความเสี่ยงมากขึ้น
ตลาดหุ้นสหรัฐฯ กลับมาอยู่ในภาวะเปิดรับความเสี่ยงมากขึ้น
โดยดัชนี S&P500 สามารถปิดตลาด +0.40%
หนุนโดยการปรับตัวขึ้นของหุ้นกลุ่มพลังงานและหุ้นกลุ่มการเงินที่ได้แรงหนุนจากรายงานผลประกอบการที่ออกมาดีกว่าคาด
อาทิ Chevron +2.0% นอกจากนี้ ตลาดหุ้นสหรัฐฯ
ยังได้แรงหนุนจากการรีบาวด์ของบรรดาหุ้นเทคฯ ใหญ่ (Tesla +3.5%, Alphabet
+1.3%) หลังการรีบาลานซ์ดัชนี Nasdaq 100 ไม่ได้ส่งผลให้เกิดแรงขายหุ้นเทคฯ
ใหญ่อย่างที่ตลาดกังวล
ส่วนในฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี stoxx600 ปรับตัวขึ้นเพียง +0.06% แม้ว่าตลาดหุ้นยุโรปจะได้แรงหนุนจากการรายงานผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนที่ออกมาดีกว่าคาด
แต่รายงานข้อมูลดัชนี PMI ภาคการผลิตและภาคการบริการที่ลดลงต่อเนื่องและแย่กว่าคาด
รวมถึงความไม่แน่นอนของการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ของสเปนหลังการเลือกตั้ง
ได้กดดันให้ผู้เล่นในตลาดยังไม่กล้าเปิดรับความเสี่ยงมากนัก
ในฝั่งตลาดบอนด์ ภาวะเปิดรับความเสี่ยงของตลาดการเงินฝั่งสหรัฐฯ
รวมถึงรายงานดัชนี PMI ภาคการผลิตและภาคการบริการที่ไม่ได้ออกมาเลวร้ายนัก
ได้ส่งผลให้ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ
พลิกกลับมาปรับตัวขึ้นต่อเนื่องใกล้ระดับ 3.90% อีกครั้ง
(แกว่งตัวในกรอบ 3.80%-3.88% ในช่วงคืนก่อนหน้า) อนึ่ง เรามองว่า การปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ระยะยาวดังกล่าว
ถือเป็นสิ่งที่ดี เพราะจะช่วยเปิดโอกาสให้ผู้เล่นในตลาดทยอยเข้าซื้อบอนด์ระยะยาวในจังหวะที่น่าสนใจมากขึ้น
โดยเฉพาะ หากบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ปรับตัวขึ้นเหนือระดับ 4.00%
อีกครั้ง ซึ่งเป็นระดับที่เรามองว่า downside risk จำกัดพอสมควรแล้ว
ทางด้านตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์ปรับตัวแข็งค่าขึ้นต่อเนื่อง
เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก หนุนโดยรายงานข้อมูลดัชนี PMI ฝั่งสหรัฐฯ ที่โดยรวม ดูดีกว่ารายงานดัชนี PMI
ฝั่งยุโรป ส่งผลให้ดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ทยอยปรับตัวขึ้นใกล้ระดับ
101.4 จุด (กรอบการเคลื่อนไหว 101-101.5 จุด ในช่วงคืนที่ผ่านมา) ในส่วนของราคาทองคำ การปรับตัวขึ้นของทั้งเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์
10 ปี สหรัฐฯ ได้กดดันให้ราคาทองคำ
(สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน ส.ค.) ย่อตัวลงสู่ระดับ 1,956 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ซึ่งเรามองว่า ผู้เล่นบางส่วนอาจรอจังหวะราคาทองคำย่อตัวลงในการเข้าซื้อเก็งกำไรระยะสั้น
และโฟลว์ธุรกรรมดังกล่าวก็มีส่วนกดดันให้เงินบาทอ่อนค่าได้บ้าง
สำหรับวันนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ
ผ่านรายงานดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค โดย Conference Board
(Consumer Confidence) ซึ่งอาจปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อนหน้า
หลังอัตราเงินเฟ้อชะลอลงต่อเนื่อง ส่วนตลาดแรงงานยังคงแข็งแกร่งอยู่
ส่วนในฝั่งยุโรป ตลาดจะรอลุ้นรายงานรายงานภาวะสินเชื่อ (Bank Lending Survey) ในไตรมาส 2 ซึ่งเรามองว่า
รายงานดังกล่าว จะเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่บรรดาเจ้าหน้าที่ ECB ใช้พิจารณาถึงความจำเป็นในการขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่อง
หลังจากที่ ECB
อาจเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ย +25bps ในการประชุมวันพฤหัสฯ
นี้
นอกจากนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตามรายงานผลประกอบการบรรดาบริษัทจดทะเบียน
โดยเฉพาะรายงานจากบริษัทเทคฯ ใหญ่ อาทิ Microsoft, Alphabet เป็นต้น ซึ่งอาจกระทบต่อบรรยากาศในตลาดการเงินช่วงนี้ได้ ส่วนในฝั่งไทย
เราประเมินว่า ผู้เล่นในตลาดควรติดตามสถานการณ์การเมืองไทย หลังล่าสุดนักลงทุนต่างชาติเริ่มทยอยขายทำกำไรการลงทุนในหุ้นไทยมากขึ้น
<!--[if !supportLineBreakNewLine]-->
<!--[endif]-->
สำหรับ แนวโน้มของค่าเงินบาท เราคงมุมมองเดิมว่า โมเมนตัมการอ่อนค่าของเงินบาทนั้นกลับมา
หลังจากที่เราได้ Call จุดกลับตัวของเงินบาท (มอง bottom ระยะสั้นที่ 33.75 บาทต่อดอลลาร์)
เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคมที่ผ่านมา โดยปัจจัยที่กลับมากดดันค่าเงินบาทนั้น
มีทั้งการแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์, โฟลว์ธุรกรรมซื้อทองคำในจังหวะย่อตัว
และแรงขายสินทรัพย์ไทยจากความกังวลสถานการณ์การเมืองไทย
ซึ่งหากปัจจัยกดดันฝั่งอ่อนค่ายังไม่เปลี่ยนแปลง เงินบาทก็มีโอกาสอ่อนค่าต่อ ทดสอบโซนแนวต้าน
34.75 บาทต่อดอลลาร์ ได้
อย่างไรก็ดี เรามองว่า
ผู้เล่นต่างชาติบางส่วนที่ยังคงมุมมองเชิงบวกต่อแนวโน้มค่าเงินบาท (มองเงินบาทแข็งค่าขึ้น) อาจรอจังหวะการอ่อนค่าของเงินบาทในการเพิ่มสถานะ
Long THB ได้ เช่นเดียวกันกับ
ฝั่งผู้ส่งออกที่ต่างก็รอทยอยขายเงินดอลลาร์ หากเงินบาทพลิกกลับมาอ่อนค่าลง
ทำให้เราประเมินว่า หากสถานการณ์การเมืองในประเทศไม่ได้ถึงขั้นวิกฤต
จนทำให้นักลงทุนต่างชาติเทขายสินทรัพย์ไทยอีกรอบ
ค่าเงินบาทก็อาจไม่ได้อ่อนค่าต่อเนื่องรุนแรง
ทั้งนี้ อีกหนึ่งปัจจัยที่ต้องจับตาใกล้ชิดในช่วงปลายเดือนกรกฎาคม
คือ แนวโน้มเงินหยวนของจีน (CNY) ซึ่งจะขึ้นกับมุมมองของผู้เล่นในตลาดต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีน
โดยจะต้องรอจับตาอย่างใกล้ชิดว่า
ทางการจีนจะออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจได้มากน้อยขนาดไหน หลังการประชุม Politburo
เราคงคำแนะนำว่า
ในช่วงที่ตลาดการเงินยังมีความผันผวนสูงจากทั้งปัจจัยการเมืองไทยและบรรยากาศในตลาดการเงินที่อาจพลิกไปมาในช่วงนี้
ผู้ประกอบการควรใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงที่หลากหลาย อาทิ Option เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน
มองกรอบเงินบาทวันนี้
คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 34.40-34.70 บาท/ดอลลาร์