ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 34.05 บาทต่อดอลลาร์ “แข็งค่าขึ้น”

ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ  34.05 บาทต่อดอลลาร์ “แข็งค่าขึ้น”

 

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า

 

ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ  34.05 บาทต่อดอลลาร์ “แข็งค่าขึ้น”

จากระดับปิดวันก่อนหน้า

โดยในช่วงคืนก่อนหน้า ค่าเงินบาทปรับตัวแข็งค่าขึ้นต่อเนื่อง (แกว่งตัวในช่วง 33.96-34.23 บาทต่อดอลลาร์) หนุนโดยการปรับตัวขึ้นของราคาทองคำ ซึ่งได้รับอานิสงส์จากการอ่อนค่าลงของเงินดอลลาร์ หลังรายงานยอดค้าปลีก (Retail Sales) และยอดผลผลิตอุตสาหกรรม (Industrial Production) ล่าสุดออกมาแย่กว่าคาด ทำให้ตลาดยิ่งคาดหวังว่าเฟดจะใกล้ยุติการขึ้นดอกเบี้ย นอกจากนี้ เงินดอลลาร์ยังถูกกดดันจากภาวะเปิดรับความเสี่ยงของตลาด หลังสถาบันการเงินใหญ่สหรัฐฯ ต่างรายงานผลประกอบการที่ดีกว่าคาด

 

ผู้เล่นในตลาดหุ้นสหรัฐฯ เดินหน้าเปิดรับความเสี่ยงอย่างต่อเนื่อง ท่ามกลางรายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียน โดยเฉพาะ สถาบันการเงินใหญ่สหรัฐฯ อย่าง Morgan Stanley +6.5%, BofA +4.4% ที่ต่างรายงานผลประกอบการที่ดีกว่าคาด นอกจากนี้ มุมมองของผู้เล่นในตลาดที่ยังคงคาดหวังว่า เฟดใกล้ยุติการขึ้นดอกเบี้ย จากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจล่าสุด ทั้งยอดค้าปลีกและยอดผลผลิตอุตสาหกรรมที่ออกมาแย่กว่าคาด ได้หนุนให้บรรดาหุ้นเทคฯ และหุ้นสไตล์ Growth ต่างปรับตัวขึ้นต่อ ทำให้ดัชนี S&P500 ปิดตลาด +0.71%

 

ส่วนในฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี stoxx600 รีบาวด์ขึ้น +0.62% นำโดยการปรับตัวขึ้นของบรรดาหุ้นกลุ่ม Healthcare โดยเฉพาะ Novartis +4.6% ที่ได้แรงหนุนจากการปรับคาดการณ์ผลกำไร อย่างไรก็ดี การปรับตัวขึ้นของตลาดหุ้นยุโรปนั้นถูกกดดันโดยการปรับตัวลงของบรรดาหุ้นกลุ่มสินค้าแบรนด์เนม (L’Oreal -1.4%, Hermes -1.4%) ตามความกังวลแนวโน้มการฟื้นตัวเศรษฐกิจจีน

 

ในฝั่งตลาดบอนด์ บรรยากาศเปิดรับความเสี่ยงของตลาดการเงินโดยรวม ทำให้ผู้เล่นในตลาดบางส่วนอาจเริ่มทยอยขายทำกำไรการปรับตัวลงของบอนด์ยีลด์ระยะยาวในช่วงที่ผ่านมาบ้าง แม้ว่าโดยรวมผู้เล่นในตลาดจะยังคงเชื่อว่า เฟดจะใกล้ยุติการขึ้นดอกเบี้ย ทำให้บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ รีบาวด์ขึ้นเล็กน้อยใกล้ระดับ 3.80% อีกครั้ง ซึ่งเราคงคำแนะนำเดิมว่า ผู้เล่นในตลาดควรรอทยอยเข้าสะสมการลงทุนในบอนด์ระยะยาว โดยเฉพาะในช่วงที่บอนด์ยีลด์ปรับตัวสูงขึ้น อาทิ หากบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ปรับตัวขึ้นทะลุระดับ 4.00% อีกครั้ง ก็จะเป็นจุดเข้าซื้อที่น่าสนใจมาก

 

ทางด้านตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์เคลื่อนไหวผันผวน โดยรวมแข็งค่าขึ้นเล็กน้อยเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก โดยล่าสุดดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) เคลื่อนไหวใกล้ระดับ 99.9 จุด (กรอบการเคลื่อนไหว 99.7-100.1 จุด ในช่วงคืนที่ผ่านมา) ซึ่งเรามองว่า การแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์อาจมาจากการปิดสถานะ Short USD ของผู้เล่นบางส่วนในตลาด เพื่อขายทำกำไรได้ ทั้งนี้ แม้เงินดอลลาร์จะแข็งค่าขึ้นบ้าง แต่ก็มีจังหวะอ่อนค่าลงในช่วงที่ตลาดรับรู้รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ออกมาแย่กว่าคาด ในส่วนของราคาทองคำ การย่อตัวลงของทั้งเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ในช่วงที่รายงานข้อมูลเศรษฐกิจออกมาแย่กว่าคาด ได้หนุนให้ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน ส.ค.) ปรับตัวขึ้นมาใกล้โซน 1,980-1,990 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ทำให้ผู้เล่นบางส่วนเริ่มทยอยขายทำกำไรการปรับตัวขึ้นของราคาทองคำและโฟลว์ธุรกรรมดังกล่าวก็มีส่วนช่วยหนุนการแข็งค่าขึ้นของเงินบาทในคืนที่ผ่านมา

 

สำหรับวันนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้นรายงานอัตราเงินเฟ้อจากฝั่งยุโรป (ยูโรโซนและอังกฤษ) เพื่อประเมินโอกาสธนาคารกลางยุโรป (ECB) และธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย โดยเรามองว่า มีโอกาสที่ธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) อาจเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อ +50bps ในรอบการประชุมเดือนสิงหาคม หากอัตราเงินเฟ้อ CPI และอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน Core CPI เดือนมิถุนายน ชะลอลงไม่มากนัก สู่ระดับ 8.2% และ 7.1% ตามลำดับ

 

นอกจากนี้ ไฮไลท์สำคัญที่ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตาม คือ การโหวตเลือกนายกฯ รอบที่ 2 ของไทย ซึ่งเรามองว่า ผลการโหวตอาจยังคงสะท้อนภาพสถานการณ์การเมืองไทยที่ยังมีความไม่แน่นอน และชี้ว่าการโหวตเลือกนายกฯ อาจมีความยืดเยื้อ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อบรรยากาศในตลาดการเงินและฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติได้


<!--[if !supportLineBreakNewLine]-->
<!--[endif]-->

สำหรับ แนวโน้มของค่าเงินบาท เรามองว่า เงินบาทมีโมเมนตัมการแข็งค่าที่ชัดเจน (มากกว่าที่เราคาดไว้มาก) ทำให้เงินบาทสามารถแข็งค่าหลุดทุกโซนแนวรับที่เราประเมินไว้ อย่างไรก็ดี เราเริ่มเห็นแรงซื้อของบรรดาผู้เล่นในตลาด โดยเฉพาะผู้นำเข้ากลับเข้ามาบ้าง โดยเฉพาะในช่วงโซน 33.90-34.00 บาทต่อดอลลาร์ ทำให้ช่วงดังกล่าวอาจยังพอเป็นแนวรับได้บ้าง แต่หากเงินบาทยังคงแข็งค่าขึ้นหลุดโซนดังกล่าว เรามองว่า แนวรับถัดไปก็ไม่น่าจะต่ำกว่าระดับ 33.80 บาทต่อดอลลาร์

 

อย่างไรก็ดี ควรระวังความผันผวนในช่วงตลาดทยอยรับรู้รายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI ของอังกฤษ (ช่วง 13.00 .) ซึ่งอาจส่งผลให้ค่าเงินปอนด์ และค่าเงินดอลลาร์ผันผวนได้พอสมควร หากอัตราเงินเฟ้อที่ออกมาไม่ได้เป็นไปตามที่ตลาดคาดการณ์ไว้ เช่น อัตราเงินเฟ้อชะลอลงมากกว่าคาด ก็อาจทำให้ เงินปอนด์ อ่อนค่าลงได้บ้าง ซึ่งก็พอจะช่วยหนุนให้เงินดอลลาร์รีบาวด์แข็งค่าขึ้นได้เช่นกัน

 

และที่สำคัญ ควรติดตามผลการโหวตนายกฯ รอบที่ 2 ซึ่งอาจทำให้ค่าเงินบาทเผชิญความผันผวนในช่วงตลาดทยอยรับรู้ผลการโหวตได้

 

เราคงคำแนะนำว่า ในช่วงที่ตลาดการเงินยังมีความผันผวนสูงจากทั้งปัจจัยการเมืองไทยและบรรยากาศในตลาดการเงินที่อาจพลิกไปมาในช่วงรับรู้รายงานผลประกอบการ ผู้ประกอบการควรใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงที่หลากหลาย อาทิ Option เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน 

 

มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 33.85-34.15 บาท/ดอลลาร์