ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 35.06 บาทต่อดอลลาร์ “แข็งค่าขึ้น”


 

 

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า

 

ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ  35.06 บาทต่อดอลลาร์แข็งค่าขึ้น

จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ  35.15 บาทต่อดอลลาร์

โดยในช่วงคืนก่อนหน้า ค่าเงินบาททยอยแข็งค่าขึ้น ทดสอบโซนแนวรับ 35.05-35.10 บาทต่อดอลลาร์ ตามการปรับตัวอ่อนค่าลงของเงินดอลลาร์ ที่มาพร้อมกับการรีบาวด์ขึ้นของราคาทองคำสู่ระดับ 1,930 ดอลลาร์ต่อออนซ์ อีกครั้ง หลังผู้เล่นในตลาดเริ่มมองว่า เฟดใกล้ถึงจุดยุติการขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย

 

บรรยากาศในฝั่งตลาดหุ้นสหรัฐฯ เริ่มกลับมาอยู่ในภาวะปิดรับความเสี่ยงมากขึ้น โดยดัชนี S&P500 ปิดตลาด +0.24% หนุนโดยถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟดที่ต่างส่งสัญญาณว่า แม้เฟดจะมีโอกาสเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อ แต่ก็ใกล้ถึงจุดสิ้นสุดของการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายแล้ว ทั้งนี้ ผู้เล่นในตลาดยังไม่กล้าเปิดรับความเสี่ยงมากนัก เพื่อรอลุ้น รายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI สหรัฐฯ และรายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียน โดยเฉพาะหุ้นสถาบันการเงินขนาดใหญ่ 

 

ส่วนในฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี stoxx600 ปรับตัวขึ้นต่อเนื่อง +0.18หนุนโดยการรีบาวด์ขึ้นต่อของบรรดาหุ้นกลุ่มสินค้าแบรนด์เนม (L’ Oreal +0.8%, Hermes +0.8%ท่ามกลางความหวังว่า ทางการจีนอาจจะออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม หลังการประชุม Politburo ในเดือนนี้ อย่างไรก็ดีตลาดหุ้นยุโรปกลับถูกกดดันจากการปรับตัวลงของหุ้น Novo Nordisk -1.1% หลังสำนักงานยายุโรปเตรียมเข้าตรวจสอบ side effects ของการใช้ยาเบาหวานและยาลดน้ำหนักของบริษัท

 

ในฝั่งตลาดบอนด์ ท่าทีของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟดที่ต่างส่งสัญญาณว่า การขึ้นดอกเบี้ยของเฟดนั้นอาจใกล้ถึงจุดยุติ ได้ทำให้ผู้เล่นในตลาดทยอยกลับเข้ามาซื้อบอนด์ระยะยาวเพิ่มเติม (สอดคล้องกับที่เราเคยประเมินว่า ผู้เล่นในตลาดต่างรอจังหวะในการ Buy on Dip) ส่งผลให้บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ทยอยปรับตัวลดลงสู่ระดับ 4.00อย่างไรก็ดี เรามองว่า ยังคงมีความเสี่ยงที่บอนด์ยีลด์ระยะยาวอาจปรับตัวสูงขึ้นต่อได้ หากผู้เล่นในตลาดเริ่มประเมินว่า แม้เฟดจะใกล้ยุติขึ้นดอกเบี้ย แต่อัตราดอกเบี้ยนโยบายก็อาจไม่ได้ปรับตัวลดลงเร็วหรือกลับเข้าสู่ระดับ 2.50% ที่เฟดประเมินไว้ ทั้งนี้ เราคงแนะนำให้ ผู้เล่นในตลาดทยอยเข้าซื้อบอนด์ในจังหวะบอนด์ยีลด์ปรับตัวสูงขึ้น

 

ทางด้านตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์ทยอยปรับตัวอ่อนค่าลง เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก ท่ามกลางมุมมองของผู้เล่นในตลาดที่คาดว่าเฟดใกล้ถึงจุดยุติการขึ้นดอกเบี้ย ทำให้โดยรวมดัชนีเงินดอลลาร์ (DXYย่อตัวลงใกล้ระดับ 101.9 จุด (กรอบการเคลื่อนไหว 101.9-102.6 จุด ในช่วงคืนที่ผ่านมา) ทั้งนี้ เงินดอลลาร์อาจยังคงแกว่งตัว sideway หรืออาจไม่ได้มีการปรับตัวในทิศทางใดอย่างชัดเจน เนื่องจากผู้เล่นในตลาดต่างรอจับตารายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI สหรัฐฯ ในวันพุธนี้ ในส่วนของราคาทองคำ ภาวะเปิดรับความเสี่ยงของตลาดการเงินได้กดดันให้ราคาทองคำย่อตัวลงในช่วงแรก ก่อนที่ราคาทองคำจะได้แรงหนุนจากการปรับตัวลดลงของทั้งเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ส่งผลให้ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน ส.ค.) รีบาวด์ขึ้นใกล้ระดับ 1,930 ดอลลาร์ต่อออนซ์ อีกครั้ง โดยเรามองว่า การรีบาวด์ขึ้นของราคาทองคำดังกล่าว อาจทำให้ผู้เล่นบางส่วนทยอยขายทำกำไร ซึ่งโฟลว์ธุรกรรมดังกล่าว ก็มีส่วนช่วยหนุนให้เงินบาทแข็งค่าขึ้นได้

 

สำหรับวันนี้ ไฮไลท์สำคัญจะอยู่ที่ รายงานข้อมูลตลาดแรงงานอังกฤษ โดยหากการจ้างงานในอังกฤษยังอยู่ในภาวะตึงตัว ส่งผลให้อัตราการเติบโตของค่าจ้างยังทรงตัวในระดับสูง ก็อาจหนุนให้ธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) สามารถเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ย +50bps เหมือนกับในการประชุมรอบก่อนหน้าได้ นอกจากนี้ ตลาดจะรอประเมินทิศทางเศรษฐกิจยูโรโซนผ่านรายงานดัชนีความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจของเยอรมนี (ZEW Economic Sentiment) ซึ่งตลาดมองว่า รายงานข้อมูลดังกล่าวอาจสะท้อนว่า ผู้เล่นในตลาด (นักวิเคราะห์และนักลงทุนสถาบัน) อาจยังคงมีความกังวลต่อแนวโน้มเศรษฐกิจยูโรโซน ท่ามกลางการเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยของ ECB และการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีนที่แย่กว่าคาด

 

และนอกเหนือจากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจดังกล่าว ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตามถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด เพื่อประเมินทิศทางนโยบายการเงินของเฟดในระยะถัดไป


สำหรับ แนวโน้มของค่าเงินบาท เราประเมินว่า แม้เงินบาทจะทยอยแข็งค่าขึ้น ตามการอ่อนค่าลงของเงินดอลลาร์ แต่ทว่า เงินบาทยังมีปัจจัยเสี่ยงการเมืองในประเทศที่ยังมีความไม่แน่นอนอยู่ ซึ่งอาจกดดันให้ เงินบาทผันผวนอ่อนค่าลงได้ โดยเฉพาะในช่วงที่จะใกล้ถึงวันโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี (วันที่ 13 กรกฎาคม นี้ทำให้ เราประเมินว่า เงินบาทอาจยังไม่สามารถแข็งค่าขึ้นต่อจนทะลุโซนแนวรับแถว 34.90-35.00 บาทต่อดอลลาร์ไปได้ง่ายนัก นอกจากนี้ เรายังคงเห็นสัญญาณการทยอยขายสินทรัพย์ไทยของนักลงทุนต่างชาติ เพื่อลดความเสี่ยงพอร์ตการลงทุน ก่อนรับรู้ผลโหวตเลือกนายกฯ 

ทั้งนี้ หากเงินบาทแข็งค่าทะลุแนวรับสำคัญดังกล่าว เราประเมินว่า มีโอกาสที่จะเห็นเงินบาทแข็งค่าขึ้นต่อทดสอบโซน 34.75 บาทต่อดอลลาร์ได้ เนื่องจาก ผู้เล่นในตลาดส่วนใหญ่ อย่าง ผู้นำเข้า ต่างรอจังหวะเข้าซื้อเงินดอลลาร์ในช่วงที่เงินบาทกลับมาแข็งค่าขึ้น อนึ่ง โซนแนวต้านของเงินบาทอาจขยับลงมาอยู่ในโซน 35.20-35.30 บาทต่อดอลลาร์ หลังเงินบาททยอยแข็งค่าขึ้นในช่วงที่ผ่านมา 

 

เราคงคำแนะนำว่า ในช่วงที่ตลาดการเงินยังมีความผันผวนสูงจากทั้งปัจจัยการเมืองไทยและการปรับเปลี่ยนมุมมองไปมาของผู้เล่นในตลาดต่อแนวโน้มดอกเบี้ยนโยบายเฟด ผู้ประกอบการควรใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงที่หลากหลาย อาทิ Option เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน 

 

มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 34.90-35.20บาท/ดอลลาร์