ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 35.13 บาทต่อดอลลาร์ “แข็งค่าขึ้น” จากระดับปิดสัปดาห์ก่อนหน้า ที่ระดับ 35.20 บาทต่อดอลลาร์

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า
 
ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ  35.13 บาทต่อดอลลาร์
“แข็งค่าขึ้น”
จากระดับปิดสัปดาห์ก่อนหน้า ที่ระดับ  35.20 บาทต่อดอลลาร์
โดยในช่วงคืนวันศุกร์ของสัปดาห์ก่อนหน้า เงินบาทพลิกกลับมาแข็งค่าขึ้นต่อเนื่อง ทดสอบโซน 35.05 บาทต่อดอลลาร์ หลังเงินดอลลาร์อ่อนค่าลงจากรายงานยอดการจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรม (Nonfarm Payrolls) ออกมาต่ำกว่าคาด ส่วนราคาทองคำก็รีบาวด์ขึ้นทดสอบโซน 1,940 ดอลลาร์ต่อออนซ์
 
สัปดาห์ที่ผ่านมา เงินดอลลาร์พลิกกลับมาอ่อนค่าลง หลังยอดการจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรมสหรัฐฯ (Nonfarm Payrolls) ออกมาต่ำกว่าคาด ทว่าอัตราการเติบโตของค่าจ้างยังคงอยู่ในระดับสูง ทำให้ผู้เล่นในตลาดต่างคงมุมมองว่า เฟดอาจเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อในการประชุมเดือนกรกฎาคมได้
 
ในสัปดาห์นี้ เรามองว่า ควรรอลุ้น รายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI สหรัฐฯ ที่จะชี้ชะตาแนวโน้มดอกเบี้ยเฟด พร้อมจับตาสถานการณ์การเมืองไทย (โหวตเลือกนายกฯ) อย่างใกล้ชิด
 
มุมมองเศรษฐกิจทั่วโลก
ฝั่งสหรัฐฯ ไฮไลท์สำคัญที่อาจส่งผลต่อมุมมองผู้เล่นในตลาดต่อทิศทางดอกเบี้ยนโยบายเฟด คือ รายงานข้อมูลอัตราเงินเฟ้อ CPI เดือนมิถุนายน โดยบรรดานักวิเคราะห์ประเมินว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไป CPI อาจชะลอลงสู่ระดับ 3.1% จาก 4% ในเดือนก่อนหน้า ตามการปรับตัวลดลงของราคาพลังงานและผลของฐานราคาสินค้าและบริการที่อยู่ในระดับสูงในปีก่อนหน้า อย่างไรก็ดี อัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน Core CPI ซึ่งเป็นข้อมูลที่เฟดให้ความสำคัญ อาจชะลอลงสู่ระดับ 5% ซึ่งอาจเป็นระดับที่เฟดยังคงกังวลต่อแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อได้ ทั้งนี้ หากอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานชะลอลงมากกว่าคาด เราคาดว่า ผู้เล่นในตลาดอาจเริ่มปรับลดมุมมองต่อแนวโน้มการเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยในการประชุมเดือนกรกฎาคม ที่ล่าสุด จาก CME FedWatch Tool ตลาดให้โอกาสถึง 93% ซึ่งในกรณีดังกล่าว ที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานนั้นชะลอลงกว่าคาด เงินดอลลาร์มีโอกาสอ่อนค่าลงได้บ้าง นอกเหนือจากรายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI ผู้เล่นในตลาดจะรอประเมินทิศทางเศรษฐกิจสหรัฐฯ ผ่านรายงานดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดยมหาวิทยาลัยมิชิแกน (UofMichigan Consumer Sentiment) เดือนกรกฎาคม รวมถึงรายงานสภาวะเศรษฐกิจและภาคธุรกิจโดยบรรดาเฟดสาขาต่างๆ (Fed Beige Book)
 
ฝั่งยุโรปตลาดจะรอติดตามรายงานข้อมูลตลาดแรงงานอังกฤษ อย่างใกลชิด เพื่อประเมินโอกาสที่ธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) อาจเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อ +50bps เหมือนกับในรอบการประชุมก่อนหน้า นอกจากนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตามถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่ธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) และธนาคารกลางยุโรป (ECB) เพื่อประเมินทิศทางนโยบายการเงินของทั้งสองธนาคารกลาง อนึ่ง ตลาดจะรอประเมินทิศทางเศรษฐกิจยูโรโซนผ่านรายงานดัชนีความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจของเยอรมนี (ZEW Economic Sentiment) รวมถึง ดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุน (Sentix Investor Confidence) ซึ่งตลาดมองว่า รายงานข้อมูลดังกล่าวอาจสะท้อนว่า ผู้เล่นในตลาด (นักวิเคราะห์และนักลงทุนสถาบัน) อาจยังคงมีความกังวลต่อแนวโน้มเศรษฐกิจยูโรโซน ท่ามกลางการเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยของ ECB และการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีนที่แย่กว่าคาด
 
ฝั่งเอเชียตลาดคาดว่า แนวโน้มการชะลอตัวลงของทั้งภาพรวมเศรษฐกิจและอัตราเงินเฟ้อ (แม้ว่าอาจจะยังอยู่ในระดับสูงกว่าเป้าหมายของธนาคารกลาง) อาจทำให้ ธนาคารกลางเกาหลีใต้ (BOK) และธนาคารกลางนิวซีแลนด์ (RBNZ) ตัดสินใจ คงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ไว้ที่ระดับ 3.50% และ 5.50% ตามลำดับ ทั้งนี้ในส่วนภาพเศรษฐกิจ ตลาดอาจยังคงกังวลต่อแนวโน้มการฟื้นตัวเศรษฐกิจจีนที่ยังไม่ดีนัก ซึ่งจะสะท้อนผ่านยอดการส่งออก (Exports) เดือนมิถุนายน ที่อาจหดตัวต่อเนื่องถึง -10%y/y นอกจากนี้ยอดการนำเข้า (Imports) ก็จะหดตัวราว -4.8% สะท้อนความต้องการในประเทศที่ไม่ได้ฟื้นตัวอย่างที่ตลาดคาดหวัง สอดคล้องกับการปรับตัวลดลงของดัชนี PMI ของจีน
 
ฝั่งไทยไฮไลท์สำคัญที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด คือ สถานการณ์การเมืองไทย ซึ่งจะมีการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี โดยเราประเมินว่า แคนดิเดตจากฝั่งพรรคก้าวไกลและพันธมิตร อาจขาดเสียงสนับสนุนจากฝั่งวุฒิสภาพอสมควร ทำให้การโหวตเลือกนายกฯ ยังมีความไม่แน่นอนอยู่สูงและอาจส่งผลให้นักลงทุนต่างชาติยังคงทยอยขายสินทรัพย์ไทยต่อได้ อย่างไรก็ดี หากการโหวตเลือกนายกฯ ราบรื่นกว่าที่เราคาด เราประเมินว่า ความเชื่อมั่นนักลงทุนก็อาจทยอยฟื้นตัวดีขึ้นและหนุนให้นักลงทุนต่างชาติกลับมาทยอยซื้อสินทรัพย์ไทยมากขึ้นได้  
 
 
สำหรับ แนวโน้มของค่าเงินบาท เราประเมินว่า ควรระวังความผันผวนจากสถานการณ์การเมืองไทย ซึ่งอาจกระทบต่อทิศทางฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติได้ โดยแม้โมเมนตัมเงินบาทฝั่งอ่อนค่าจะแผ่วลงมากขึ้น แต่หากการโหวตเลือกนายกฯ ยังคงมีความไม่แน่นอนและอาจทำให้การจัดตั้งรัฐบาลยืดเยื้อ นักลงทุนต่างชาติก็อาจขายสินทรัพย์ไทยต่อ กดดันให้เงินบาทอ่อนค่าลงได้ ทั้งนี้ เรามองว่า แนวต้านของเงินบาทจะอยู่ในโซน 35.50 บาทต่อดอลลาร์ ขณะที่ แนวรับสำคัญจะอยู่แถว 34.90-35.00 บาทต่อดอลลาร์
 
ในส่วนเงินดอลลาร์นั้น เรามองว่า เงินดอลลาร์มีโอกาสผันผวนสูงได้เช่นกัน ซึ่งต้องรอลุ้นรายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI โดยหากอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน Core CPI ไม่ได้ชะลอลงตามคาด ก็อาจหนุนให้เงินดอลลาร์พลิกกลับมาแข็งค่าขึ้น ซึ่งอาจต้องเห็นว่าผู้เล่นในตลาดมั่นใจมากขึ้น ว่าเฟดจะขึ้นดอกเบี้ยต่อได้ถึง 2 ครั้ง
 
เราคงคำแนะนำว่า ในช่วงที่ตลาดการเงินยังมีความผันผวนสูงจากทั้งปัจจัยการเมืองไทยและการปรับเปลี่ยนมุมมองไปมาของผู้เล่นในตลาดต่อแนวโน้มดอกเบี้ยนโยบายเฟด ผู้ประกอบการควรใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงที่หลากหลาย อาทิ Option เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน 
มองกรอบค่าเงินบาทสัปดาห์นี้ ที่ระดับ 34.90-35.50 บาท/ดอลลาร์
 
ส่วนกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 35.05-35.25 บาท/ดอลลาร์