ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 35.65 บาทต่อดอลลาร์ “อ่อนค่าลงเล็กน้อย” จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 35.61 บาทต่อดอลลาร์

ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ  35.65 บาทต่อดอลลาร์

“อ่อนค่าลงเล็กน้อย”

จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 35.61 บาทต่อดอลลาร์


นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ในช่วงคืนก่อนหน้า เงินบาทเคลื่อนไหวผันผวนในกรอบ 35.57-35.75 บาทต่อดอลลาร์ โดยมีจังหวะอ่อนค่าลง ทดสอบโซน 35.75 บาทต่อดอลลาร์ ตามการแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ หลังรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ อาทิ GDP ไตรมาส 1 และยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงานออกมาดีกว่าคาด อย่างไรก็ดี เงินบาทพลิกกลับมาแข็งค่าขึ้น ตามการปรับตัวขึ้นของราคาทองคำ (ส่งผลให้ผู้เล่นในตลาดบางส่วนทยอยขายทำกำไรการรีบาวด์ของราคาทองคำ) 


ผู้เล่นในตลาดหุ้นสหรัฐฯ เริ่มกล้าเปิดรับความเสี่ยงมากขึ้น หลังผลการทดสอบ Stress Test ของสถาบันการเงิน 23 แห่ง ออกมาเป็นที่น่าพอใจ หนุนให้หุ้นกลุ่มธนาคารสหรัฐฯ ต่างปรับตัวขึ้น (Wells Fargo +4.5%, JPM +3.5%) นอกจากนี้ ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังได้แรงหนุนจากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจที่ออกมาดีกว่าคาด ส่งผลให้โดยรวมดัชนี S&P500 ปิดตลาด +0.45% อย่างไรก็ดี ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังถูกกดดันจากการปรับตัวลดลงของบรรดาหุ้นเทคฯ ใหญ่ (Meta -1.3%, Alphabet -0.9%) ท่ามกลางความกังวลแนวโน้มการเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยของเฟด หากภาพเศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังคงสดใส

 

ส่วนในฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี stoxx600 ปรับตัวขึ้นต่อราว +0.13% หนุนโดยการปรับตัวขึ้นต่อเนื่องของหุ้นกลุ่มสินค้าแบรนด์เนม (Hermes +1.4%) รวมถึงหุ้นกลุ่ม Semiconductor (ASML +0.6%) ที่ยังได้อานิสงส์จากการลงทุนในธีม AI อย่างไรก็ดี การปรับตัวขึ้นของตลาดหุ้นยุโรปก็ถูกจำกัดโดยความกังวลแนวโน้มการเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่องของบรรดาธนาคารกลางหลัก


ในฝั่งตลาดบอนด์ รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ออกมาดีกว่าคาด ได้หนุนให้ผู้เล่นในตลาดต่างเชื่อว่า เฟดมีโอกาสเกือบ 90% ที่จะเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยในการประชุมเดือนกรกฎาคม และมีโอกาสราว 27% ที่จะขึ้นดอกเบี้ยต่อในการประชุมเดือนกันยายน ซึ่งมุมมองดังกล่าว ได้หนุนให้ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ปรับตัวขึ้นต่อเนื่องสู่ระดับ 3.84% ทั้งนี้ เราคงมองว่า บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ อาจไม่ได้ปรับตัวขึ้นไปได้ไกลมาก (อาจติดแนวต้านแถว 3.80%-3.90%) เนื่องจากผู้เล่นในตลาดต่างก็รอจังหวะบอนด์ยีลด์ปรับตัวสูงขึ้นในการทยอยเข้าซื้อ (Buy on Dip) 


ทางด้านตลาดค่าเงิน มุมมองของผู้เล่นในตลาดที่เริ่มปรับเพิ่มโอกาสการขึ้นดอกเบี้ยของเฟดในการประชุมเดือนกรกฎาคมและการประชุมเดือนกันยายน ตามรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ออกมาดีกว่าคาด ได้หนุนให้เงินดอลลาร์ทยอยแข็งค่าขึ้น เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก โดยล่าสุดดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ได้ปรับตัวขึ้นใกล้ระดับ 103.3 จุด (กรอบการเคลื่อนไหว 102.8-103.4 จุด ในช่วงคืนที่ผ่านมา) ในส่วนของราคาทองคำ แม้ว่าจะเผชิญแรงกดดันจากการปรับตัวขึ้นของทั้งเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ แต่ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน ส.ค.) ยังพอได้แรงหนุนจากการเข้าซื้อของผู้เล่นในตลาด ในจังหวะที่ปรับตัวลงใกล้โซนแนวรับหลัก แถว 1,900 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ก่อนที่รีบาวด์ขึ้นได้บ้างใกล้ระดับ 1,915 ดอลลาร์ต่อออนซ์ 


สำหรับวันนี้ เรายังคงมองว่า ผู้เล่นในตลาดจะรอจับตาแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีน โดยนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ต่างประเมินว่า เศรษฐกิจจีนอาจยังคงฟื้นตัวได้ไม่ดีนัก สะท้อนผ่านการขยายตัวในอัตราชะลอลงของภาคการบริการ โดยดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการบริการ (Services PMI) เดือนมิถุนายน อาจลดลงสู่ระดับ 53.3 จุด (ดัชนีสูงกว่า 50 จุด หมายถึง ภาวะขยายตัว) ขณะที่ภาคการผลิตอาจยังคงหดตัวต่อเนื่อง โดยดัชนี PMI ภาคการผลิตอาจอยู่ที่ระดับ 49 จุด (ดัชนีต่ำกว่า 50 จุด หมายถึง ภาวะหดตัว) อย่างไรก็ดี ภาพเศรษฐกิจจีนที่ดูไม่สดใส จะยิ่งหนุนโอกาสให้ทางการจีนและธนาคารกลางจีน (PBOC) ออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมและเดินหน้าใช้นโยบายการเงินที่ผ่อนคลายได้ผ่านรายงานดัชนี 


ส่วนในฝั่งยุโรป ตลาดจะรอประเมินแนวโน้มการดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารกลางยุโรป (ECB) ผ่านรายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI โดยบรรดานักวิเคราะห์ต่างประเมินว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไป CPI เดือนมิถุนายน อาจชะลอลงสู่ระดับ 5.6% จาก 6.1% ในเดือนก่อนหน้า ตามการปรับตัวลดลงต่อเนื่องของราคาพลังงาน อย่างไรก็ดี อัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน Core CPI อาจเร่งขึ้นสู่ระดับ 5.6% จาก 5.3% ตามการขยายตัวต่อเนื่องของภาคการบริการ โดยเฉพาะในช่วงที่เป็นไฮซีซั่นของการท่องเที่ยว ซึ่งภาพอัตราเงินเฟ้อที่ยังคงอยู่ในระดับสูง อาจส่งผลให้ธนาคารกลางยุโรป (ECB) สามารถเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยนโยบายต่อเนื่องได้อีก 2 ครั้ง ในปีนี้


และในฝั่งสหรัฐฯ ไฮไลท์สำคัญจะอยู่ที่รายงานอัตราเงินเฟ้อ PCE เดือนพฤษภาคม ซึ่งนักวิเคราะห์ต่างประเมินว่า อัตราเงินเฟ้อ PCE อาจชะลอลงต่อเนื่องสู่ระดับ 3.8% จากระดับ 4.4% ในเดือนก่อนหน้า นอกจากนี้ อัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน Core PCE ก็อาจชะลอลงสู่ระดับ 4.6% และที่สำคัญอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานภาคบริการที่ไม่รวมค่าที่พักอาศัย (Core Services ex. Housing) ก็มีแนวโน้มชะลอลงต่อเนื่อง ซึ่งหากสิ่งที่นักวิเคราะห์ประเมินนั้นถูกต้อง เรามองว่า โอกาสที่เฟดจะเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อตาม Dot Plot ก็อาจลดลง


สำหรับ แนวโน้มของค่าเงินบาท เราประเมินว่า เงินบาทมีโอกาสผันผวนในกรอบกว้างขึ้น ท่ามกลางรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญ จากทั้งฝั่งสหรัฐฯ ยุโรป และจีน ซึ่งอาจส่งผลต่อทิศทางเงินบาทในระยะสั้นได้ ทั้งนี้ เรามองว่า โมเมนตัมฝั่งอ่อนค่าของเงินบาทยังคงมีอยู่ ซึ่งปัจจัยหลักที่ช่วยหนุนการอ่อนค่าของเงินบาทนั้น ยังคงเป็นปัจจัยเดิม ทั้งการแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ ตามมุมมองของผู้เล่นในตลาดต่อแนวโน้มการขึ้นดอกเบี้ยเฟด โฟลว์ธุรกรรมซื้อทองคำในจังหวะย่อตัว รวมถึงโฟลว์ซื้อเงินดอลลาร์/สกุลเงินต่างประเทศในช่วงปลายเดือนจากบรรดาผู้นำเข้าและบริษัทข้ามชาติ (MNCs) อย่างไรก็ดี เราประเมินว่า การอ่อนค่าของเงินบาทอาจถูกชะลอได้ด้วยแรงซื้อสินทรัพย์ไทยโดยนักลงทุนต่างชาติ ซึ่งเราเริ่มเห็นสัญญาณการกลับเข้ามาซื้อสินทรัพย์ไทยมากขึ้น แต่ต้องรอให้ความเสี่ยงการเมืองไทยคลี่คลายลงก่อน ถึงจะมั่นใจได้ว่านักลงทุนต่างชาติจะกลับเข้ามาซื้อสินทรัพย์ไทยต่อเนื่อง (จับตาการประชุมระหว่างพรรคก้าวไกลกับพรรคเพื่อไทยในช่วงวันหยุด) 


ทั้งนี้ ควรระวังความผันผวนของตลาดค่าเงิน ในช่วงตลาดทยอยรับรู้รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญในวันนี้ ซึ่งจะเริ่มต้นจากรายงานดัชนี PMI ฝั่งจีน (8.30 น.) ตามด้วยอัตราเงินเฟ้อ CPI ของยูโรโซน (16.00 น.) และปิดท้ายด้วย อัตราเงินเฟ้อ PCE สหรัฐฯ (19.30 น.) โดยหากเงินบาทเผชิญแรงกดดันฝั่งอ่อนค่า เรามองว่า เงินบาทมีโอกาสอ่อนค่าทดสอบโซนแนวต้านแรกแถว 35.75 บาทต่อดอลลาร์ แต่หากเงินบาทอ่อนค่าทะลุโซนดังกล่าวก็มีโอกาสอ่อนค่าต่อสู่ระดับ 35.85 บาทต่อดอลลาร์ได้ ซึ่งเรามองว่า แนวต้านดังกล่าวอาจเป็นจุดกลับตัวของเงินบาทในช่วงนี้ได้ หากเงินบาทไม่ได้เผชิญปัจจัยกดดันอ่อนค่าเพิ่มเติม (เช่น สถานการณ์การเมืองไทยไม่ได้วุ่นวายมากขึ้นจากปัจจุบัน) และหากเงินบาทพลิกกลับมาแข็งค่าขึ้น เรามองว่า การแข็งค่าขึ้นของเงินบาทอาจถูกจำกัดอยู่ในโซน 35.40-35.50 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งเรายังพอเห็นแรงซื้อเงินดอลลาร์จากผู้เล่นในตลาดอยู่บ้าง แต่หากเงินบาทแข็งค่าหลุดโซนดังกล่าวก็มีโอกาสลงมาสู่แนวรับถัดไปแถว 35.20 บาทต่อดอลลาร์ได้ไม่ยาก


เราคงคำแนะนำว่า ในช่วงที่ตลาดการเงินยังมีความผันผวนสูงจากทั้งปัจจัยการเมืองไทยและการปรับเปลี่ยนมุมมองไปมาของผู้เล่นในตลาดต่อแนวโน้มดอกเบี้ยนโยบายเฟด ผู้ประกอบการควรใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงที่หลากหลาย อาทิ Option เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน 


มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 35.45-35.75 บาท/ดอลลาร์ (ในช่วงก่อนรับรู้รายงานอัตราเงินเฟ้อ PCE สหรัฐฯ) 


และมองกรอบ 35.40-35.80 บาท/ดอลลาร์ (ในช่วงทยอยรับรู้รายงานอัตราเงินเฟ้อ PCE สหรัฐฯ)