ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 35.21 บาทต่อดอลลาร์ “อ่อนค่าลงเล็กน้อย แทบไม่เปลี่ยนแปลง” จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 35.19 บาทต่อดอลลาร์

ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ  35.21 บาทต่อดอลลาร์
“อ่อนค่าลงเล็กน้อย แทบไม่เปลี่ยนแปลง”
จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 35.19 บาทต่อดอลลาร์

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ในช่วงคืนก่อนหน้า เงินบาทเคลื่อนไหวผันผวน โดยมีจังหวะแข็งค่าขึ้นทดสอบโซน 35.15 บาทต่อดอลลาร์ ตามการปรับตัวขึ้นของราคาทองคำ (ส่งผลให้ผู้เล่นในตลาดบางส่วนทยอยขายทำกำไรการรีบาวด์ของราคาทองคำ) ก่อนที่จะพลิกกลับมาอ่อนค่าลงบ้าง ตามการแข็งค่าของเงินดอลลาร์ ท่ามกลางบรรยากาศในตลาดการเงินที่ปิดรับความเสี่ยง

ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังคงอยู่ในภาวะปิดรับความเสี่ยง ท่ามกลางแรงขายหุ้นเทคฯ ใหญ่ ซึ่งต่างถูกนักวิเคราะห์ทยอยปรับลดคำแนะนำการลงทุน จากความกังวลผลกระทบจากการเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยของเฟด นอกจากนี้ ความงุ่นวายของสถานการณ์การเมืองรัสเซียก็มีส่วนทำให้ผู้เล่นในตลาดไม่กล้าเปิดรับความเสี่ยงมากนัก ทำให้โดยดัชนี S&P500 ปิดตลาด -0.45% 
 
ส่วนในฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี stoxx600 ย่อตัวลงต่อ -0.10% กดดันโดยความกังวลแนวโน้มเศรษฐกิจยุโรปชะลอตัว จากการเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยของบรรดาธนาคารกลางหลัก นอกจากนี้ ความไม่แน่นอนของสถานการณ์การเมืองรัสเซีย ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อทิศทางสงครามรัสเซีย-ยูเครน ก็มีส่วนกดดันบรรยากาศในตลาดการเงินโดยรวม

ทางด้านตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์เคลื่อนผันผวนในกรอบ sideway โดยมีจังหวะแข็งค่าขึ้นบ้างจากความต้องการถือเงินดอลลาร์เป็นสินทรัพย์ปลอดภัยในจังหวะที่ตลาดยังคงเผชิญความผันผวน ล่าสุดดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ยังคงแกว่งตัวใกล้ระดับ 102.7 จุด (กรอบการเคลื่อนไหว 102.6-102.8 จุด ในช่วงคืนที่ผ่านมา) ทั้งนี้ ควรระวังความผันผวนในค่าเงินเยนญี่ปุ่น (JPY) หลังผู้เล่นบางส่วนเริ่มกังวลว่า ทางการญี่ปุ่นอาจเข้ามาแทรกแซงค่าเงินได้ ในส่วนของราคาทองคำ บรรยากาศในตลาดการเงินที่อยู่ในภาวะปิดรับความเสี่ยง ได้ช่วยหนุนให้ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน ส.ค.) สามารถรีบาวด์ขึ้นทดสอบโซน 1,940-1,950 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ก่อนที่จะเผชิญแรงกดดันจากการแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ กดดันให้ ราคาทองคำย่อตัวลงมาแกว่งตัวใกล้ระดับ 1,930 ดอลลาร์ต่อออนซ์ 

สำหรับวันนี้ เราประเมินว่า ผู้เล่นในตลาดจะรอจับตาถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่ธนาคารกลางหลัก อาทิ ประธานธนาคารกลางยุโรป (ECB) และบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด เพื่อประเมินทิศทางนโยบายการเงินของทั้ง ECB และเฟด 

นอกจากนี้ ปัจจัยการเมืองรัสเซียก็จะเป็นอีกสิ่งที่ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตามอย่างใกล้ชิด ซึ่งความวุ่นวายทางการเมืองรัสเซียก็อาจส่งผลกระทบต่อทิศทางสงครามรัสเซีย-ยูเครนได้

สำหรับ แนวโน้มของค่าเงินบาท เราประเมินว่า เงินบาทอาจแกว่งตัว sideway ในกรอบไม่ต่างจากวันก่อนหน้า เนื่องจากผู้เล่นในตลาดอาจรอติดตามปัจจัยใหม่ๆ โดยเฉพาะแนวโน้มเศรษฐกิจฝั่งสหรัฐฯ ซึ่งผู้เล่นในตลาดจะรอจับตารายงานอัตราเงินเฟ้อ PCE และยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงาน ในช่วงท้ายสัปดาห์ อย่างไรก็ดี ความไม่แน่นอนของสถานการณ์การเมืองรัสเซียก็อาจกดดันบรรยากาศในตลาดการเงินช่วงนี้ ทำให้เงินดอลลาร์ยังพอมีแรงหนุนจากความต้องการสินทรัพย์ปลอดภัยและทำให้เงินบาทยังไม่สามารถกลับมาแข็งค่าขึ้นได้ชัดเจน 

อนึ่ง เรามองว่า แรงขายสินทรัพย์ไทยโดยนักลงทุนต่างชาติเริ่มชะลอลงต่อเนื่อง ทำให้เราประเมินว่า หากไม่มีปัจจัยลบมากดดันเพิ่มเติม เงินบาทก็ไม่น่าจะอ่อนค่าทะลุกรอบ 35.40-35.50 บาทต่อดอลลาร์ที่เราประเมินไว้ต้นสัปดาห์ไปได้ง่ายนัก 

เราคงคำแนะนำว่า ในช่วงที่ตลาดการเงินยังมีความผันผวนสูงจากทั้งปัจจัยการเมืองไทยและการปรับเปลี่ยนมุมมองไปมาของผู้เล่นในตลาดต่อแนวโน้มดอกเบี้ยนโยบายเฟด ผู้ประกอบการควรใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงที่หลากหลาย อาทิ Option เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน
 
มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 35.10-35.30 บาท/ดอลลาร์