"โกลเบล็ก" แนะลงทุน 10 หุ้นเด่นเข้า FTSE SET Index
กรุงเทพฯ - บล. โกลเบล็ก (GBS) ประเมินหุ้นไทยแกว่งตัว Sideway แนะจับตาการลงมตินโยบายการเงินของเฟดในวันที่ 14 มิ.ย. นี้ (เช้ามืด 15 มิ.ย.ในไทย) บวกประเด็นการเมืองในประเทศยังมีความไม่แน่นอนในการจัดตั้งรัฐบาล หลังกกต. รับคำร้องสอบนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ กรณีผิดม.151 เป็นบุคคลผู้มีลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้ง ให้กรอบดัชนี 1,520-1,570 จุด แนะลงทุนใน 10 หุ้นเด่นเข้า FTSE SET Index
นางสาววิลาสินี บุญมาสูงทรง ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ โกลเบล็ก จำกัด หรือ GBS ประเมินทิศทางตลาดหุ้นไทยสัปดาห์นี้แกว่งตัวผันผวนในลักษณะ Sideway ออกข้าง โดยนักลงทุนยังจับตาการลงมตินโยบายการเงินของเฟด ในวันที่ 14 มิ.ย. นี้ (เช้ามืด 15 มิ.ย.ในไทย) อีกทั้งทางสหรัฐมีแผนประกาศงบประมาณช่วยเหลือด้านอาวุธระยะยาวแก่ยูเครน โดยจะมุ่งเน้นไปที่ยุทโธปกรณ์ป้องกันภัยทางอากาศ ซึ่งมีมูลค่ามากกว่า 2 พันล้านดอลลาร์
ด้านจีนมีความเสี่ยงที่จะเผชิญกับภาวะเงินฝืด หลังจากมีการเปิดเผยข้อมูลเงินเฟ้อที่ระดับใกล้ 0% ในเดือนพ.ค. ซึ่งทำให้ผู้เชี่ยวชาญเรียกร้องให้ธนาคารกลางจีนตัดสินใจผ่อนคลายนโยบายการเงินเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งนักวิเคราะห์ในจีนคาดการณ์ว่าจะเห็นการบริโภคจะเติบโตและฟื้นตัวในปี 2567 ส่วนปีนี้เป็นเพียงแค่ก้าวออกจากภาวะขาลงเท่านั้น หลังจีนยกเลิกมาตรการสกัดโควิด-19 แพร่ระบาด ยอดค้าปลีกฟื้นตัวขึ้นพอสมควรในช่วง 4M66
ขณะที่ประเด็นการเมืองการเมืองไทยยังไม่แน่นอนจากการจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่ยังยืดเยื้อต่อไปหลังจากคณะกรรมการเลือกตั้ง (กกต.) มีมติเอกฉันท์รับคำร้องสอบ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ผิดม.151 เป็นบุคคลผู้มีลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้ง จึงให้กรอบการเคลื่อนไหวของดัชนีที่ 1,520-1,570 จุด
ขณะที่สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) เปิดเผยภาวะการค้าระหว่างประเทศของไทยเดือนเม.ย.66 การส่งออกมีมูลค่า 21,723.2 ล้านเหรียญสหรัฐ หดตัว 7.6%YoY ในขณะที่การนำเข้ามีมูลค่า 23,195 ล้านเหรียญสหรัฐ หดตัว7.3%YoY ส่งผลให้ดุลการค้าของประเทศไทยเดือนเม.ย.66 ขาดดุลเท่ากับ 1,471.7 ล้านเหรียญสหรัฐ ทั้งนี้ ภาพรวมการค้าระหว่างประเทศของไทยในเดือนม.ค. – เม.ย.66 พบว่า ไทยส่งออกรวมมูลค่า 92,003.3 ล้านเหรียญสหรัฐ หดตัว 5.2%YoY ส่วนกระทรวงพาณิชย์รายงาน CPI ของไทยในเดือน พ.ค.66 เพิ่มขึ้น 0.53%YoY โดยชะลอตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 และต่ำสุดในรอบ 21 เดือนเนื่องจากการลดลงของราคาน้ำมันเชื้อเพลิง และก๊าซหุงต้ม รวมทั้งฐานในเดือน พ.ค.65 อยู่ในระดับที่สูง ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไป เฉลี่ย 5 เดือนแรกของปีนี้ เพิ่มขึ้น 2.96%YoY ส่วน Core CPI ในเดือนพ.ค.66 เพิ่มขึ้น 1.55%YoY ชะลอตัวต่อเนื่องเช่นกัน ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน เฉลี่ย 5 เดือนแรกของปีนี้ เพิ่มขึ้น 1.98%
ทั้งนี้ ยังมีปัจจัยที่ต้องจับตาในประเทศ อาทิ สัปดาห์ที่ 3 สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) แถลงดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม, สัปดาห์ที่ 4 กระทรวงพาณิชย์ แถลงภาวะการค้าระหว่างประเทศ การค้าชายแดนและการค้าผ่านแดน, สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) แถลงยอดผลิตและส่งออกรถยนต์, สัปดาห์ที่ 5 สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) รายงานภาวะเศรษฐกิจการคลัง ภาวะเศรษฐกิจภูมิภาค ดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจภูมิภาค สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) แถลงดัชนีอุตสาหกรรม ส่วนปัจจัยต่างประเทศที่ต้องจับตาวันนี้ 13 มิ.ย. อียู รายงานดัชนีความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจเดือนมิ.ย., สหรัฐ รายงานดัชนีความเชื่อมั่นของธุรกิจขนาดย่อมเดือนพ.ค. และดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) เดือนพ.ค., วันที่ 13-14 มิ.ย. กำหนดประชุมธนาคารกลางสหรัฐเกี่ยวกับอัตราดอกเบี้ยนโยบาย (ทราบผลเช้าวันที่ 15 มิ.ย. เวลาในประเทศไทย), 14 มิ.ย. สหรัฐ รายงานดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) เดือนพ.ค. สต็อกน้ำมันรายสัปดาห์จากสำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐ (EIA) (เช้าวันที่ 15 มิ.ย.) ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ประชุมนโยบายการเงินและแถลงมติอัตราดอกเบี้ย, วันที่ 15 มิ.ย. จีน รายงานการผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือนพ.ค. ยอดค้าปลีกเดือนพ.ค., ธนาคารกลางยุโรป (ECB) แถลงมติอัตราดอกเบี้ยสหรัฐ รายงานจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์, วันที่ 22 มิ.ย. นายเจอโรม พาวเวล ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะแถลงเกี่ยวกับนโยบายการเงินของสหรัฐต่อคณะกรรมการธนาคารของวุฒิสภาสหรัฐ
ดังนั้น แนะนำกลยุทธ์การลงทุนในหุ้นที่เข้าคำนวณ FTSE SET Index : Large Cap เข้า MAKRO และ TRUE และกลุ่ม Mid Cap เข้า BEM, BTG, DIF, ITC, SAPPE, SISB, SNNP, SCAP สะท้อนให้เห็นภาพเกณฑ์ขนาดมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (Market Capitalization) และสภาพคล่องเป็นไปตามหลักสากล ซึ่งจะมีผลวันที่ 19 มิถุนายนนี้เป็นต้นไป
ส่วนทิศทางการลงทุนในทองคำ นายณัฐวุฒิ วงศ์เยาวรักษ์ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย บล. โกลเบล็ก ประเมินราคาทองคำในสัปดาห์นี้ยังคงต้องจับตาตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐมีแนวโน้มแข็งแกร่งมากขึ้นทั้งตัวเลขภาคแรงงานและดัชนีเงินเฟ้อ ขณะที่ช่วงกลางเดือนมีประชุม FOMC โดยตลาดให้น้ำหนักการคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับ 5.00-5.25% ไปจนถึงปลายปีนี้สัปดาห์นี้จับตาประกาศตัวเลขเงินเฟ้อทั้งฝั่งผู้บริโภคดัชนี CPI และผู้ผลิต ดัชนี PPI อีกทั้งช่วงกลางสัปดาห์มีประชุม FOMC ของธนาคารกลางสหรัฐ โดยตลาดให้น้ำหนักส่วนใหญ่มีมุมมองว่าเฟดจะมีมติคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับเดิม หากเป็นไปตามที่แนวโน้มตลาดคาดการณ์จะเป็นแรงหนุนกับราคาทองคำ
ดังนั้นฝ่ายวิจัยประเมินว่าทองคำได้รับปัจจัยหนุนจากแนวโน้มเงินเฟ้อที่อ่อนตัวและการคงอัตราดอกเบี้ยของเฟด ระหว่างสัปดาห์หากราคาทองคำไม่หลุดแนวรับบริเวณ 1,930$/oz คำแนะนำทยอยเข้าซื้อสะสม