ส่องธุรกิจหน้าฝน Food Delivery

    ต้องยอมรับว่าตอนนี้ประเทศไทยเข้าสู่ฤดูฝนอย่างเต็มตัว  ช่วงหน้าฝนถือเป็นปัญหาหนักสำหรับพ่อค้าแม่ค้า เพราะขายของได้ยากขึ้น คนออกมาจับจ่ายน้อยลงเพราะไม่อยากเดินทางออกไปไหนมาไหน หลาย ๆ อาชีพได้รับผลกระทบไปตาม ๆ กัน โดยเฉพาะคนที่ประกอบอาชีพทำมาค้าขาย ฝนตกทีไร ลูกค้าก็น้อยลง ทำให้ขายได้น้อยลง กำไรก็หายไปหมด 

การเติบโตของธุรกิจ “Food Delivery” ในช่วงฤดูฝน

    เมื่อมีธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากช่วงฤดูฝน ก็ต้องมีธุรกิจที่ได้รับผลประโยชน์จากช่วงฤดูฝนเช่นกัน ธุรกิจ “Food Delivery” นอกจากได้รับอานิสงส์ในช่วง COVID-19 แล้ว ช่วงฤดูฝนแบบนี้ที่คงไม่มีใครอยากฝ่าพายุฝนหรือดงรถติด แถมบางพื้นที่ยังมีน้ำท่วมขัง จนทำให้หลาย ๆ คนไม่อยากออกไปไหน ผู้คนอาจไม่สะดวกเดินทางไปยังร้านอาหาร จึงนิยมสั่งผ่านช่องทางออนไลน์ ธุรกิจ “Food Delivery”  ถือว่าได้ตอบโจทย์ความสะดวกสบายของลูกค้า แถมบางแพลตฟอร์มยังจัดโปรโมชั่นออกมาเพื่อดึงลูกค้าให้หันมาใช้บริการของตน ทำให้ธุรกิจ “Food Delivery” ในช่วงฤดูฝนนี้เติบโตและขยายตัวอย่างต่อเนื่อง


แพลตฟอร์ม ธุรกิจ “Food Delivery”  ในประเทศไทย

    การขยายตัวของผู้ใช้งานช่วงฤดูฝนนี้ส่งผลให้แพลตฟอร์มต่างต้องเร่งขยายเครือข่าย เพื่อให้สามารถดำเนินการประกอบการแข่งขันที่รุนแรงระหว่างแพลตฟอร์มเพื่อแย่งชิงส่วนแบ่งการตลาด โดยจัดโปรโมชั่น Incentive แก่ผู้ใช้บริการและไรเดอร์ อย่างไรก็ดี แม้การเติบโตของตลาด “Food Delivery” ในช่วงฤดูฝน จะช่วยให้รายได้เติบโตได้อย่างรวดเร็ว แต่บางแพลตฟอร์มหลายรายยังมีผลประกอบการไม่ค่อยดีนัก



    จากรายงานของ Momentum Works ซึ่งเป็นบริษัท Consulting ในสิงคโปร์ เรื่อง Food Delivery Platforms in Southeast Asia (SEA) พบว่า ในปี 2020 Grab ครองส่วนแบ่งตลาดในไทยเป็นอันดับหนึ่งที่ราว 50% ตามด้วย foodpanda ที่ 23% และ LINE MAN ที่ 20% ตามลำดับ

การแข่งขันธุรกิจ “Food Delivery” ในช่วงหน้าฝน

    ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ (EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์มองว่า การแข่งขันในธุรกิจ Food delivery ยังมีแนวโน้มรุนแรงต่อเนื่องทั้งในด้านการจัดโปรโมชันส่วนลดแก่ทั้งผู้ใช้บริการและร้านอาหารจากการเข้ามาของผู้ประกอบการรายใหม่, การขยายพื้นที่การให้บริการ และการเพิ่มรูปแบบการให้บริการในห่วงโซ่อุปทานอาหาร อีกทั้ง การขยายบริการไป ด้านอื่น ๆ นอกเหนือจาก Food delivery อย่างเช่น การซื้อสินค้า, การขนส่งสินค้า, การเงิน และการท่องเที่ยว จะทำให้การแข่งขันสู่การเป็น Super App จะเริ่มชัดเจนมากยิ่งขึ้นและทวีความรุนแรงกว่าเดิม ทั้งจากแพลตฟอร์ม Food delivery ที่ขยายบริการไปด้านอื่น ๆ และจากแพลตฟอร์มที่เน้นบริการด้านอื่นที่หันมาให้บริการ Food delivery

แนวโน้มธุรกิจ “Food Delivery” ในอนาคต

    แม้ธุรกิจ “Food Delivery” จะได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่อง แต่ธุรกิจดังกล่าวมีแนวโน้มเผชิญความท้าท้ายมากขึ้น ภายใต้สภาวะแวดล้อมทางธุรกิจที่เปลี่ยนแปลงรวดเร็ว ทำให้ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า ในปี 2565 ผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องในธุรกิจ Food Delivery มีแนวโน้มเผชิญโจทย์ท้าทายมากขึ้น ที่สำคัญคือ

  - ผลกระทบของสงครามระหว่างรัสเซียและยู่เครน ส่งผลกระทบต่อราคาวัตถุดิบ ทำให้การปรับราคาอาหารและค่าจัดส่งของผู้เกี่ยวข้องในธุรกิจ Food Delivery ทำได้จำกัด

ราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้นส่งผลกระทบต่อแพลตฟอร์มจัดส่งอาหาร รวมถึงไรเดอร์ที่ต้องแบกรับต้นทุนค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น

- ความระวังการใช้จ่ายและการใช้บริการแอปพลิเคชันจัดส่งอาหารของผู้บริโภคมีแนวโน้มเกิดขึ้นต่อเนื่องเพื่อรับมือกับค่าครองชีพที่สูงขึ้น

    ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ (EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์มองว่า อย่างไรก็ดี กลยุทธ์สำคัญที่จะช่วยให้ธุรกิจ Food delivery สามารถเติบโตอย่างยั่งยืน คือแพลตฟอร์ม Food delivery ต้องให้ความสำคัญกับการรักษาฐานผู้ใช้บริการพาร์ทเนอร์ร้านอาหารและไรเดอร์, การสร้างพันธมิตรทางธุรกิจ และการจัดการด้านกฎระเบียบและด้านสิ่งแวดล้อม ส่วนแนวทางที่พาร์ทเนอร์ร้านอาหารควรนำไปปรับใช้เพื่อช่วยดึงดูดลูกค้า ได้แก่ การมีสินค้าที่เจาะกลุ่มเป้าหมายเฉพาะ, การสื่อสารกับผู้บริโภคอย่างสม่ำเสมอ และการมีช่องทางการจำหน่ายหลากหลายเพื่อให้เข้าถึงผู้บริโภคอย่างครอบคลุมมากขึ้น