“วันไหว้บัวลอย” หรือ “วันไหว้ตังโจ่ย” [ตงจื้อ (冬至)] คือหนึ่งในประเพณีสำคัญไม่แพ้วันตรุษของชาวจีน ซึ่งปกติวันไหว้ขนมบัวลอยมักถูกจัดขึ้นในเดือน 11 ตามปฏิทินจีน แต่ไม่กำหนดวันที่แน่ชัด หากยึดตามปฏิทินทางสุริยคติสากลจะตรงกับวันที่ 21 หรือ 22 ในเดือนธันวาคมของทุกปี
ที่มาของประเพณีดังกล่าวมาจากการไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ในช่วงฤดูหนาวเพื่อให้คุ้มครองสัตว์เลี้ยง
และขอพรให้พืชผลทางการเกษตรเจริญงอกงามได้ดี ผู้คนมีสุขภาพแข็งแรง
อีกทั้งเป็นการขอบคุณสำหรับการดำรงชีวิตอย่างราบรื่นมาอีก 1 ปี
หรือใครมีเคราะห์อยู่ก็เชื่อว่าเมื่อไหว้แล้วจะทำให้หมดเคราะห์
อีกทั้งในวันไหว้บัวลอย ยังตรงกับวันเหมายัน หรือก็คือวันที่มีช่วงเวลากลางคืนยาวนานและช่วงกลางวันสั้นในฤดูหนาวปลายปี
และยังถือว่าเป็นเทศกาลสุดท้ายส่งท้ายปีเก่าของชาวไทยเชื้อสายจีน
โดยจะมีการทำขนมบัวลอยจีนหรือขนมอี๋ มาตั้งเป็นโต๊หมู่บูชาเพื่อกราบไหว้ฟ้าดิน
เจ้าที่เจ้าทาง หรือเทพยดาที่เคารพบูชานั่นเอง และลูกหลานเชื้อสายจีนที่อยู่ต่างถิ่นแดนไกล
ก็จะกลับมายังบ้านเกิดเพื่อพบปะญาติพี่น้อง
จึงนับเป็นวันครอบครัวของคนจีนเช่นเดียวกันกับวันตรุษจีนด้วยนั่นเอง
ทำไมต้องเป็นขนมบัวลอย
ในสมัยโบราณชาวจีนเรียกขนมบัวลอยว่า ฝูหยวนจื่อ
(浮圆子)
浮 แปลว่า ลอย และ 圆子 แปลว่า ลูกกลม ๆ ต่อมาภายหลังเรียกว่า
ทังถวน (汤团) 汤 แปลว่า น้ำแกง ส่วน 团 แปลว่า ทรงกลม หรือเรียกว่า ทังหยวน (汤圆)
ซึ่งมีความหมายเหมือนกันและออกเสียงใกล้เคียงกัน
นอกจากนั้น อักษร 团圆 เมื่อรวมกันแล้วมีความหมายว่า
การได้อยู่พร้อมหน้าพร้อมตากันของคนในครอบครัว อีกด้วย
ในประเทศไทยอาจจะคุ้นเคยกับการเรียกชื่อขนมบัวลอยว่า ขนมอี๋
เนื่องจากเป็นการออกเสียงตามสำเนียงจีนแต้จิ๋วนั่นเอง
ขนมบัวลอย หรือขนมอี๋
จัดว่าเป็นขนมมงคลที่ใช้ในการประกอบพิธีไหว้ขนมบัวลอย
เพื่อขอบคุณเทพเจ้าฟ้าดินที่ดูแลเราให้ปลอดภัยแคล้วคลาดตลอดระยะเวลา 1 ปีที่ผ่านมา
และช่วยอวยพรให้ครอบครัวมีความสุขในปีถัดไปอีกด้วย
ของที่ใช้สำหรับ
ไหว้บัวลอย ประกอบด้วย
กระถางธูป
เทียนแดง
1 คู่
ขนมบัวลอย
5 ถ้วย
ผลไม้
5 อย่าง
น้ำชา 5 ถ้วย
ธูปสำหรับจุดไหว้
คนละ 3 ดอก หรือ 5 ดอก (จำนวนแล้วแต่ความเชื่อตามแต่ละท้องที่)
กระดาษเงินกระดาษทอง
และเครื่องบรรณาการต่าง ๆ